ไม่พบผลการค้นหา
การรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นความพยายามจะสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาภายในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็หวังจะสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลกด้วย แต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีหลายคนตั้งคำถามว่าการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เมื่ออาเซียนเพิกเฉยกับปัญหาภายในภูมิภาคตั้งแต่เรื่องพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ไปจนถึงเรื่องโรฮิงญา

นายมาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย และผู้เขียนหนังสือ Does ASEAN Matter? แสดงความเห็นในฐานะของ 'คนใน' ว่า ที่ผ่านมา อาเซียนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญกับการพัฒนาของภูมิภาคอย่างมาก โดยเขาระบุว่า อาเซียนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลัก 3 ด้าน ได้แก่

1. การสร้างความเชื่อใจกันระหว่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะก่อตั้งอาเซียน ความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคนี้เป็นแบบที่ต่างคนต่างไม่ไว้วางใจกัน มีความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกัน แต่ในช่วง 50 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกก็ดีขึ้น และทุกประเทศก็ 'เชื่อใจกันทางยุทธศาสตร์'

2. สถานะของประเทศสมาชิกอาเซียน นายนาตาเลกาวาอธิบายว่า การแข่งขันกันระหว่างจีนและตะวันตก ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นเบี้ยในกระดานการแข่งขันของทั้งสองฝ่าย หลายครั้งประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้ แต่เมื่อรวมเป็นอาเซียนแล้ว คนมองเห็นความสำคัญของอาเซียนมากขึ้นในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่มีอำนาจในการขับเคลื่อนสถานการณ์ในภูมิภาค

3. การสร้างให้อาเซียนมี 'คน' เป็นศูนย์กลาง ก่อนหน้านี้ หลายประเทศในภูมิภาคจะให้ความสำคัญกับการที่ 'รัฐเป็นศูนย์กลาง' แต่ช่วงหลังมานี้อาเซียนให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น มีการพัฒนาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


AFP-Marty Natalegawa

(มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีต รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ชี้ว่าอาเซียนต้องปรับตัวเพื่อยกระดับคุณภาพความร่วมมือ)

อย่างไรก็ตาม นายนาตาเลกาวากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ควรจะถูกละเลยจนไม่เห็นคุณค่า หากอาเซียนยังต้องการมีบทบาท ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง เพราะอาเซียนยังไม่ดีพอที่จะมีบทบาทสำคัญต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า เช่น เรื่องกลไกภายในอาเซียน อาเซียนจะยกระดับคุณภาพของความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ควรมีใครละเลย 'ความสามัคคี' ที่อาเซียนประคับประคองกันมานานหลายทศวรรษ นายนาตาเลกาวาเปิดเผยว่า หากมองผิวเผินอาเซียนก็มีความสามัคคีกันดี แต่เขาก็มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความแตกแยกภายใน โดยเฉพาะความลังเลใจของกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกอาเซียน

นายนาตาเลกาวาอธิบายว่า หลายครั้ง ประเทศสมาชิกเลือกที่จะไม่ใช้กลไกหรือการเจรจาแบบรวมกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและไทยในกรณีพื้นที่พิพาทเขาพระวิหารเมื่อปี 2011 ไม่มีการพูดถึงการใช้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) กันอย่างเป็นทางการเลย ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศสมาชิกเลือกวิธีการเข้าไปเจรจากับคู่กรณีโดยตรงเลยเช่นกัน ที่ผ่านมา เรามักจะซุกปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ไว้ใต้พรม และใช้กลไกการเจรจาต่อรองแบบทวิภาคี

ดังนั้น เราจึงต้องใช้ความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นในการใช้กลไกของอาเซียนมาแก้ปัญหามากขึ้น เหมือนกรณีของเมียนมาในอดีต เราได้เห็นว่าอาเซียนมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเมียนมาเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ช่วงหลังมานี้ อาเซียนกลับไม่ค่อยมีบทบาทอะไรในเรื่องโรฮิงญาในรัฐยะไข่


โรฮิงญา ฮินดู ยะไข่ เมียนมา ARSA

ส่วนเรื่องการรวมศูนย์อำนาจอาเซียน นายนาตาเลกาวาระบุว่า เรายังต้องมาตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เราทำเรื่องนี้สำเร็จแล้วหรือยัง หรือเราเพียงแต่ใช้อำนาจในการจัดประชุมกันเท่านั้น หลายประเทศเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ดี แต่อาเซียนสามารถกำหนดรูปร่างและทิศทางการประชุมและหลักการอาเซียนได้ดีเท่ากับในอดีตหรือไม่ เช่นเรื่อง อินโดแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันการจราจรในอินโดแปซิฟิกแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ อาเซียนเคยคุยกันเรื่องนี้จนถึงปี 2014 แต่เรากลับเลือกที่จะหยุดคุยเรื่องนี้กันไปชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคกรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งที่จริงควรจะทำสำเร็จ แต่กลับแสดงให้เห็นความแตกแยกของสมาชิกอาเซียน แทนที่จะมีแนวปฏิบัติร่วมกันของอาเซียน 10 ประเทศ กลับกลายเป็นการสรุปจุดยืนของแต่ละประเทศต่อจีน


ทะเลจีนใต้.jpg

ในแง่การให้คนเป็นศูนย์กลาง อาเซียนทำได้ดีมากในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่สิทธิมนุษยชนและนิติรัฐในภูมิภาค หากมองจากสถานการณ์ในปี 2018 พบว่าโครงสร้างประชาธิปไตยกลับแย่ลงจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว นายนาตาเลกาวาระบุว่า อินโดนีเซียพยายามยกประเด็นเกี่ยวกับระบอบการปกครอง สิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐขึ้นมาพูดในเวทีอาเซียนหลายครั้ง ผู้นำอินโดนีเซียต้องใช้พยายามอย่างมากในการยึดมั่นหลักการ เพื่อให้มั่นใจว่าอาเซียนมีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ถ้าอินโดนีเซียไม่มีความเป็นผู้นำในด้านนี้ สิทธิมนุษยชนอาเซียนอาจย่ำแย่กว่านี้

แม้คนตั้งคำถามมาตลอดว่าอาเซียนสำคัญแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญ แต่อาเซียนจะต้องปรับตัว อย่าคิดว่าทุกอย่างดีแล้ว และเมื่อมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องไม่คิดว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ของอาเซียน โดยยกตัวอย่างปี 2012 ที่กัมพูชาไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนในการประณามกรณีที่จีนแผ่ขยายอำนาจในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ อาเซียนร่วมมือกันแก้ปัญหา มองว่าอาเซียนควรขยายความร่วมมือทางการทูตในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ตอนนี้ ความแตกแยกถูกทำให้เป็นบรรทัดฐานไปแล้ว

นายนาตาเลกาวาระบุว่า ในปีหน้า ไทยจะเป็นประธานอาเซียน ก็จะต้องรับหน้าที่สำคัญในการกำหนดรูปร่างและทิศทางการพัฒนาอาเซียนด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลกว่าการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเพียง 1 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: