สหประชาชาติเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มชาติพันธุ์กะฉิ่นลี้ภัยออกรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมาไปยังจีนประมาณ 4,000 คนแล้ว และคาดว่าน่าจะมีพลเรือนติดอยู่ในพื้นที่อีกจำนวนมาก หลังจากที่การปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและองค์กรเอกราชกะฉิ่น หรือ KIO ยกระดับความรุนแรงขึ้น โดยมีรายงานกองทัพเมียนมาเตรียมโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่ใส่กองกำลังของ KIO
ด้านหน่วยงานต่างๆ ได้กดดันให้รัฐบาลเมียนมาเปิดทางให้พวกเขาสามารถนำความช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ โดยนายมาร์ก คัตส์ หัวหน้าสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ OCHA ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าสิ่งที่เขากังวลมากที่สุดคือความปลอดภัย ของพลเรือนในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้พิการ
รัฐกะฉิ่นถือเป็นหนึ่งในรัฐที่มีความขัดแย้งรุนแรง ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมา โดยชาวกะฉิ่นส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และพยายามต่อสู้เพื่อให้เป็นเอกราชจากเมียนมามาตั้งแต่ปี 1961 มีการประเมินว่า น่าจะมีชาวกะฉิ่นประมาณ 120,000 คนที่ต้องพลัดถิ่นในรัฐกะฉิ่นและทางตอนเหนือของรัฐฉานจากเหตุปะทะกับกองทัพ เมียนมา
องค์กรด้านสิทธิระบุว่า การต่อสู้ระหว่าง KIO กับกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงล่มไปเมื่อปี 2011 และมีการตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพเมียนมาได้ฉวยโอกาสที่นานาชาติไปสนใจสถานการณ์รุนแรงต่อชาวโรฮิงญาใน รัฐยะไข่ มายกระดับความรุนแรงในรัฐกะฉิ่นแทน
ในขณะที่สหประชาชาติได้เรียกร้องให้เมียนมาเลิกปฏิเสธรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะฉิ่น สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้งได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการปะทะกันในรัฐกะฉิ่น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพเมียนมาปกป้องพลเรือน รวมถึงอนุญาตให้องค์กรต่างๆ ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง
แม้นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาจะเคยประกาศว่าการเจรจาสันติภาพทั่วประเทศเป็นสิ่ง ที่เธอจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ที่ผ่านมา เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งประชาคมโลกและจากกลุ่มชาติพันธุ์ภายใน ประเทศเองว่า เธอเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกีดกันไม่ให้องค์กรนานาชาติเข้า พื้นที่ไปช่วยเหลือพลเรือนในพื้นที่ รวมถึงสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีรายงานว่ากองทัพเมียนมาปะทะกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA ใกล้กับโครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง เพียงไม่นานหลังมีการปะทะกันที่เมืองผาปูน ซึ่งทำให้มีประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ประมาณ 2,000 คน