เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย รวมตัวกันในนาม 'ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก' แถลงข่าวเปิดตัวผลการประเมินนโยบายด้านสังคม (Supermarkets Scorecard) ของ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทย ได้แก่ บิ๊กซี , ซีพี เฟรชมาร์ท , ฟู้ดแลนด์ , กูร์เมต์มาร์เก็ต , แม็คโคร , เทสโก้โลตัส และ วิลล่ามาร์เก็ต
โดยเหตุผลในการทำการประเมินครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก โดยอุตสาหกรรมอาหารสร้างรายได้ราว 1 ใน 3 ของ GDP แต่เกษตรกรรายย่อยและคนในเส้นทางอาหารจำนวนมากกลับยังตกอยู่ในภาวะยากจนเพราะไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ขณะที่แรงงานจำนวนมากก็ยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากนายจ้าง ประกอบกับความตื่นตัวของผู้บริโภคที่เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการทำประเมินครั้งนี้ออกมา เพื่อให้เกิดมั่นใจว่ากระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายที่วางขายทั่วไปมีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ การประเมินจะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ แรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรี โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายที่ได้รับผลการประเมิน ในขณะที่อีก 3 รายนั้นยังไม่ได้รับคะแนนเนื่องจากขาดข้อมูลสาธารณะที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน
ซึ่งผลการประเมินพบว่าการประเมินด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนน 3 ราย การประเมินด้านสิทธิแรงงานมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนน 3 ราย ขณะที่ด้านเกษตรกรรายย่อยมีสัญญาณเชิงบวกที่สุด มีซูเปอร์มาร์เก็ตได้คะแนน 4 ราย ลแะที่สำคัญกลับพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิสตรีเพียง 1 รายเท่านั้น
นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวว่า การประเมินดังกล่าวพิจารณาจากนโยบายของบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทแม่ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะซึ่งคนทั่วไปสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้ ซึ่งพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในภาพรวมยังเปิดเผยนโยบายทางสังคมและข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนค่อนข้างน้อย โดยด้านได้รับความสำคัญค่อนข้างมากคือมิติด้านเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย
ทั้งนี้ หากดูจากแต้มคะแนนเป็นหลักจะเห็นว่ามิติด้านสตรีจะน้อยที่สุด แต่ตัวเลขที่น้อยนี้ไม่ได้น่าเป็นห่วงในเชิงผู้ประกอบการไม่ได้มีนโยบายเหล่านี้ แต่นโยบายด้านสตรีนั้นอาจจะถูกรวมไปในนโยบายองค์กรด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่จะมีการขยายเรื่องสิทธิสตรีขึ้นมาได้มากขึ้น
"การประเมินดังกล่าวไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบว่าซูเปอร์มาเก็ตใดดีกว่ากัน และไม่ได้ประเมินครอบคลุมถึงในเชิงธุรกิจและพาณิชย์ อยากให้มองผลการประเมินในครั้งนี้เป็นเรื่องการสะสม และ เป็นการbenchmark กับตัวเอง ขณะเดียวกันซูเปอร์มาเก็ตที่ไม่ได้คะแนนไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะได้ทำตามกฎหมายทุกอย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่กรอบการประเมินในครั้งนี้เป็นการมองในเรื่องการเป็นผู้นำในการเห็นความสำคัญของนโยบายด้านสังคม" นายธีรวิทย์ กล่าว
ด้าน น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คะแนนที่ออกมาดังกล่าวบางผู้ประกอบการที่ไม่มีคะแนน ไม่ได้สะท้อนว่าผู้ประกอบการรายนั้นไม่ตระหนักถึงมิติด้านต่างๆ แต่เป็นผลมาจากเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เนื่องจากบางผู้ประกอบการไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเราถึงเข้าถึงข้อมูลไม่ได้
"สิ่งที่จะเสนอแนะผู้ประกอบการ คือ อยากให้ขยายมิติเรื่องแรงงาน ความโปร่งใสด้านนโยบาย เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี โดยเชื่อว่าจะทำให้คะแนนในปีถัดไปสูงขึ้นตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านสังคมต่อสาธารณะนั้น เราหวังจะได้เห็นการเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้มากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน" น.ส.ทัศนีย์ กล่าว