ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์ล่าสุด ผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าจะนะ ถูกจับกุมอย่างน้อย 16 ราย

การลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร บรรยากาศค่อนข้างวุ่น ที่จังหวัดสงขลาผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ปะทะเจ้าหน้าที่หลังถูกสกัดกั้นยื่นหนังสือนายกฯ

หลังเป็นประธานเปิดตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้พบประชาชนกว่า 2 พันคน ระหว่างนั้นนายภรัณยู เจริญ อายุ 34 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี อาชีพทำการประมง ได้ร้องเรียนนายกรัฐมนตรี อยากให้แก้ไขกฎระเบียบที่กำหนดให้ชาวประมงสามารถออกเรือไปทำประมงได้ 220 วันต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงประสบกับภาวะขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินจากต้นทุนที่สูงขึ้น อยากให้แก้กฎหมายเพิ่มวัน 

ระหว่างอธิบาย นายกรัฐมนตรีตวาดนายภรัณยูกลับ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอโทษกรณีนี้ภายหลัง 

อีกด้านหนึ่งกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ได้เกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎ เขตเทศบาลนครสงขลา หลังจากเดินเท้าจากอำเภอเทพา เพื่อมาขอยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี 

ก่อนหน้านี้กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้มาชุมนุมขอพบนายกรัฐมนตรี บริเวณจุดดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงนอนลงที่พื้น กระทั่งช่วงบ่ายที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เข้าไปพบนายกรัฐมนตรี จึงเกิดเหตุเผชิญหน้ากัน ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 3 ราย จากนั้นทหารค่ายเสนาณรงค์ และตำรวจ ได้เข้าควบคุมตัว นายเอกชัย อิสระทะ แกนนำ ไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาแล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 16 คน ได้แก่ นาบดิเรก เหมนคร นายสมบูรณ์ คำแหง นายปฏิหาริย์ บุญรัตน์ นายอามีน สะมาแอ นายสมาน นิแหละ นายวิระพงษ์ หลังห้วน นายสรวิชญ์ หลีเจริญ

นายเจะแซ เพ็ชรแก้ว นายเนติพงษ์ ชื่นล้วน นายยิ่งยศ คามะลี นายอานัส อาลีมาส๊ะ นายอิศดาเรส หะยีเด นายอัยโยน มุเซะ นายเอกชัย อิสระทะ นายฮานาฟี เหมนคร 

ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่าหลังจากตำรวจใช้กำลังเข้าสลายกิจกรรมของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้มีการจับกุมแกนนำไปอย่างน้อย 16 คน แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา และยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เป้าหมายของผู้ที่เดินขบวนออกจากอำเภอเทพาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.เพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อการประชุม ครม.สัญจรและเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา 

24133518_10210645723127763_1255721260_n.jpg

หนังสือที่ชาวบ้านต้องการส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ส่งไม่ถึงมือ เพราะถูกสกัดและควบคุมตัวไปเสียก่อน ระบุว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1-3 ไม่ครอบคลุม เพราะไม่มีการรับฟังสองทางกับกลุ่มคัดค้าน ทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการ ทำให้เวทีดังกล่าวถูกมองเป็นเพียงพิธีกรรม และการศึกษา EHIA มีความบกพร่อง เพราะชาวบ้านไม่เห็นว่ามีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล แต่กลับมีรายงานเผยแพร่ออกมา

นอกจากนี้ เครือข่ายชาวบ้านยังตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการอนุมัติโครงการ ซึ่งมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA จึงเกรงว่าจะมีการเสนอให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหิน ซึ่งยังไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก ทั้งยังมีการบังคับโยกย้ายผู้อยู่อาศัยที่บ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่กว่า 180 หลังคาเรือนรวมกว่า 1,000 คน ซึ่งนับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ ขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีคำถามว่าชาวบ้านจะย้ายไปอยู่ที่ไหนได้

ท้ายสุด จดหมายของเครือข่ายฯ ระบุว่า กระแสของทั้งโลกกำลังทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทำให้โลกร้อนและก่อมลพิษ อีกทั้งยังทำลายวิถีชุมชนเทพาที่สุขสงบ ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้

24133518_10210645723127763_1255721260_n.jpg

หลังจากนั้น วอยซ์ทีวีติดต่อสอบถามไปยัง ด.ต.เกษม สุวรรณเรืองศรี ประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้รับข้อมูลว่านอกเหนือจากแกนนำ 16 คนแล้ว ยังมีผู้ชุมนุมราว 40 คนที่เข้าร่วมในการรณรงค์ “เดิน....#เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เดินทางมายัง สภ.เมืองสงขลา เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่การควบคุมตัว และยังไม่ทราบว่าการพูดคุยจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ขณะที่เฟซบุ๊ก 'ตำรวจภูธรเมืองสงขลา' ชี้แจงว่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของเครือข่ายชาวบ้านต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในครั้งนี้ ตำรวจได้ดำเนินการตามหลักยุทธวิธี และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะทุกประการ

ขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชน 4 แห่ง ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL) และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน พร้อมย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม 

เช่นเดียวกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสานรวม 36 องค์กร ออกแถลงการณ์ระบุว่า การใช้กำลังเข้าสลายพี่น้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขัดแย้งกับที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” เอาไว้ ทางเครือข่ายฯ จึงขอประณามรัฐบาลที่ใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องเทพา โดยไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง พร้อมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ปล่อยตัวพี่น้องที่ถูกจับกุมโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องมีการสอบสวนกรณีการใช้กำลังสลายการรวมตัวของประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ และให้รัฐบาลยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาด้วย

24133630_10210645723087762_528235146_n.jpg

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแถลงเรียกร้องให้หยุดการใช้อำนาจสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยย้ำว่าประชาชนชาว ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อกันและเดินเท้ากว่า 75 กิโลเมตรเพื่อมาร้องเรียนและ/หรือยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีสิชัย จ. สงขลา เพื่อเสนอให้ดำเนินการระงับหรือยุติการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ณ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา เพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน 

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิดังกล่าวกลับถูกขัดขวางจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะใช้กองกำลังเข้าสลายการเดินทางมาใช้สิทธิของชาวบ้านอย่างป่าเถื่อน ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีการจับกุมและ/หรือควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านไปกักขัง/คุมขังไว้ ณ สถานีตำรวจแล้วนั้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา มาตรา 6 ของพรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 โดยตรง ทั้ง ๆ ที่คำร้องเรียนของชาวบ้านเป็นการใช้สิทธิและดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และจะเป็นการประจานต่อชาวโลกให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือการกระทำที่นิยมชมชอบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างอะไรกับลัทธิ 'เผด็จการนิยม'

ส่วนผู้สื่อข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการปล่อยตัวผู้ชุมนุมฯ ได้สอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมพีพี สมิหลาบีช ว่าจะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการจัดการกับผู้ชุมนุมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแต่เพียงว่า "ก็เตือนกันแล้ว จะมาทำร้ายตำรวจไม่ได้" และไม่ได้ระบุเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

24135204_10210645723567774_296202761_n.jpg

หมายเหตุ

หมายเหตุ ภาพปกจากเฟซบุ๊ก Wanchai Phutthong