ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กประกาศตั้งวอร์รูมจับตาการเลือกตั้งทั่วโลกให้เสรีและยุติธรรม หลังถูกกล่าวหาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวปลอม ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย แต่นักวิเคราะห์มองว่า ระบบจับตาการเลือกตั้งของเฟซบุ๊กยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่าไม่มีความพยายามมากพอในการหยุดยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอมและการใส่ร้ายคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลก รวมถึงการหยุดยั้งข้อความที่แสดงออกถึงความเกลียดชังต่อคนบางกลุ่ม เช่น ชาวโรฮิงญา จนทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญายิ่งเลวร้ายลง

ริชาร์ด แอลเลน รองประธานด้านนโยบายของเฟซบุ๊กตอบคำถามการตัวแทนระหว่างประเทศเกี่ยวกับแผนของเฟซบุ๊กในการจัดการกับเทรนด์อันตราย และการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อความยั่วยุหรือโพสต์ที่มีข้อมูลเท็จว่า เฟซบุ๊กได้ตั้ง “วอร์รูม” ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาจับตาดู “การเลือกตั้งสำคัญๆ” ทุกครั้ง โดยคณะทำงานจะคอบจับตาความเสี่ยงใดๆ ที่จะมาแทรกแซงการเลือกตั้ง และหาทางแก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่า โพสต์เหล่านั้นส่งผลเสียกับการเลือกตั้งให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม แอลเลนกล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องการจับตาการเลือกตั้งทุกครั้งในทุกพื้นที่ทั่วโลกตลอดเวลา แต่ทรัพยากรที่เฟซบุ๊กมีอยู่ในขณะนี้ ทำได้เพียงจับตามองการเลือกตั้งระดับประเทศของทุกประเทศเท่านั้น และเฟซบุ๊กจะจับตาทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ ก่อนจะพิจารณาว่า เฟซบุ๊กจะขยายการจับตาการเลือกตั้งในระดับภูมิภาคและการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ 

เฟซบุ๊กเคยตั้งวอร์รูมจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ และการเลือกตั้งทั่วไปของบราซิลเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยกเลิกคณะทำงานนั้นไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่า โครงการนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นคณะทำงานถาวร แม้วอร์รูมนี้จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวอร์รูม เพราะช่วงการเลือกตั้งบราซิล ก็ยังมีข่าวปลอมเผยแพร่อยู่บนเฟซบุ๊กจำนวนมหาศาล

เฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับข่าวฉาวหลายเรื่อง ไม่ได้มีเพียงเรื่องการใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่ยังมีเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้และแคมเปญโจมตีผู้วิจารณ์เฟซบุ๊ก ตั้งแต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองไปจนถึงมหาเศรษฐีชื่อดังอย่างจอร์จ โซรอส 

แอลเลนกล่าวว่า เฟซบุ๊กจะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ในกับการเลือกตั้งทั่วโลก แต่เขาก็เตือนว่า คนที่ตัดสินว่าการเลือกตั้งจะเสรีและยุติธรรมได้ก็คือประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และพรรคการเมือง เฟซบุ๊กต้องการทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม แต่เฟซบุ๊กไม่อาจทำได้เพียงลำพัง เฟซบุ๊กทำได้เพียงสร้างเครื่องมือ ทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองของประเทศนั้นๆ แต่เป้าหมายสูงสุดคือ การให้ฝ่ายการเมือเข้ามามีส่วนร่วมกับเฟซบุ๊ก เพื่อหาเป้าหมายร่วมกัน

 

 ที่มา : Asian Correspondent