ไม่พบผลการค้นหา
เหตุกราดยิงโบสถ์ในรัฐเท็กซัสเมื่อเดือน พ.ย.เป็นผลจากกองทัพสหรัฐฯ ไม่แจ้งข้อมูลอาชญากรรมของอดีตทหารแก่หน่วยงานเก็บข้อมูลและตรวจสอบประวัติ ทำให้ผู้ก่อเหตุซื้อปืนไปใช้สังหารหมู่ได้อย่างง่ายดาย และมีผู้เสียชีวิต 26 ราย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าสภาบริหารท้องถิ่นนครนิวยอร์ก เมืองซานฟรานซิสโก และเมืองฟิลาเดลเฟีย ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม โดยระบุว่ากระทรวงกลาโหมปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เพราะไม่มีการบันทึกและไม่แจ้งข้อมูลประวัติของอดีตทหารหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่เข้าข่ายบุคคลต้องห้ามครอบครองอาวุธปืน ทำให้สำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมประวัติอาชญากร ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้มีประวัติต้องห้ามสามารถซื้ออาวุธปืนไปใช้ก่อเหตุสังหารหมู่จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

"ความล้มเหลวของกระทรวงกลาโหมนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เพราะอาวุธปืนตกอยู่ในมือของอาชญากรซึ่งมีความคิดที่จะก่ออันตรายร้ายแรงต่อผู้อื่นอยู่แล้ว" นายบิล ดีบลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก กล่าวในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสภาบริหารของทั้ง 3 เมือง ชี้แจงเหตุผลในการฟ้องร้องกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ โดยนายดีบลาซิโอระบุว่า นครนิวยอร์กขอยืนเคียงข้างอีก 2 เมือง เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมปฏิบัติตามกฎหมายและปรับปรุงแก้ไขระบบภายในหน่วยงานทหารเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต

นายเดวิน พี. เคลลีย์ วัย 26 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงโบสถ์คริสต์ในเมืองซัทเทอร์แลนด์สปริงส์ของมลรัฐเท็กซัสเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นอดีตนายทหารซึ่งมีประวัติทำร้ายร่างกายภรรยาและลูกเลี้ยง ถึงขั้นเด็กกะโหลกศีรษะร้าว และมีการดำเนินคดีในศาลทหาร รวมถึงตัดสินความผิดและบทลงโทษจำคุก แต่กลับไม่มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการแจ้งสำนักงานตรวจสอบข้อมูลบุคคลของเอฟบีไอ ทำให้ร้านค้าไม่พบข้อมูลอาชญากรรมของนายเคลลีย์ จึงได้ขายปืนและกระสุนจำนวนมากให้กับเขาตามปกติ นายเคลลีย์จึงนำอาวุธปืนดังกล่าวไปใช้ก่อเหตุสังหารหมู่ โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์และเด็ก 5 ขวบด้วย

นิตยสารไทม์สรายงานด้วยว่า ศาลอเล็กซานเดรียในมลรัฐเวอร์จิเนียเป็นผู้รับคำฟ้องของสภาบริหารท้องถิ่นทั้ง 3 เมือง โดยผู้ที่ตกเป็นจำเลยในกรณีนี้รวมถึงนายจิม แมททิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่โฆษกของกระทรวงกลาโหมไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

สังหารหมู่สหรัฐฯ เป็นเพราะซื้อปืนเสรี ไม่ใช่มุสลิม

เนื้อหาในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลอเล็กซานเดรีย ระบุว่านายเคลลีย์เป็นอดีตนายทหารของกองทัพอากาศ ซึ่งถูกตั้งข้อหาในคดีก่อความรุนแรงในครอบครัว ทำร้ายร่างกายภรรยาและลูกเลี้ยง ทำให้ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 12 เดือนเมื่อปี 2012 (พ.ศ. 2555) และเมื่อเขาพ้นโทษก็ถูกปรับลดยศจนอยู่ในขั้นต่ำสุด แต่หลังจากกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่นาน เขาก็ถูกปลดประจำการด้วยข้อหาประพฤติตัวผิดวินัยขั้นร้ายแรง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะส่งผลให้นายเคลลีย์เข้าข่ายบุคคลต้องห้ามซื้อหรือครอบครองอาวุธปืน แต่กองทัพอากาศไม่ได้นำประวัติของนายเคลลีย์บันทึกลงในระบบฐานข้อมูลกลางประวัติอาชญากรรม (NICS) ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ และกระทรวงกลาโหมในฐานะที่เป็นต้นสังกัดก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

ข้อมูลในคำฟ้องประเมินว่ากองทัพอากาศของสหรัฐฯ ไม่ได้เพิ่มข้อมูลอาชญากรรมของนายทหารราว 14 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถูกลงโทษหรือดำเนินคดีในแต่ละปี ส่วนข้อมูลของทหารหน่วยนาวิกโยธินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกราว 36 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ถูกบันทึกหรือแจ้งต่อไปยังเอฟบีไอเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพอากาศเคยออกแถลงการณ์ยอมรับว่ากระบวนการบันทึกและปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติการก่ออาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ยังไม่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ที่ร้ายแรง แต่ขณะนี้ทางกองทัพได้พยายามฝึกอบรมและผลักดันให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลมีความรู้และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษยังรายงานด้วยว่า สำนักงานตรวจสอบภายในของกองทัพสหรัฐฯ เคยทำรายงานเตือนเรื่องระบบการจัดการข้อมูลบุคลากรภายในกองทัพที่ด้อยประสิทธิภาพนับตั้งแต่ปี 1997 (พ.ศ.2540) และปี 2015 (พ.ศ.2558) เป็นต้นมา และต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นายเกลนน์ ไฟน์ รักษาการณ์หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในของกองทัพ เปิดเผยว่ากองทัพไม่ได้สนใจคำเตือนในรายงานที่เคยจัดทำมาแล้วด้วยความจริงจังเท่าไหร่นัก

ส่วนนายเคน เทเบอร์ หัวหน้าทีมทนายความที่รับผิดชอบการฟ้องร้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพอากาศในครั้งนี้ เปิดเผยกับเว็บไซต์ดิอินเพนเดนท์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีคดีอาชญากรรมหลายร้อยคดีที่เกี่ยวพันกับทหารหรืออดีตทหาร ซึ่งไม่ได้ถูกบันทึกลงในฐานข้อมูล NICS ทำให้การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและการป้องกันการซื้อขายหรือครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

ขณะที่ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อฝ่ายขวาของสหรัฐฯ รายงานเช่นกันว่า ระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมของสหรัฐฯ ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุกราดยิงที่เวอร์จิเนียเทค วิทยาลัยเทคโนโลยีในเมืองแบล็คส์เบิร์ก มลรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ เมื่อปี 2007 (พ.ศ.2550) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 32 คน และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม:

ส่องวิถีอเมริกัน ยอดขายปืนวันเดียวสูงกว่า 2 แสนกระบอก

ทรัมป์เตรียมอนุมัติตำรวจใช้อาวุธทหารได้

ควบคุมปืนในสหรัฐฯ ทำได้จริงหรือไม่