นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินสถานการณ์ค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าลงร้อยละ 40.8 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ว่ามีโอกาสน้อยที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ เหมือนวิกฤตการเงินปี 2540 เนื่องจากเศรษฐกิจของตุรกีไม่ได้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ มากนัก และหากลุกลามก็จะกระทบประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยเฉพาะธนาคารของสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่เป็นเจ้าหนี้หลักของธนาคารตุรกีโดยตรง ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เคยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทในขณะนี้ มองว่าน่าจะเป็นความกังวลใจของนักลงทุนในระยะสั้น และคาดว่ากระทบโดยตรงต่อไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากตุรกีมาไทยเพียง 75,000 คน และไทยส่งออกไปตุรกีเพียงร้อยละ 0.5 ของยอดการส่งออกทั้งหมด จึงไม่น่าจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
แต่ก็ต้องติดตามการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีตุรกีเป็นตลาดสำคัญ เช่น เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่น่ากังวลมากกว่าปัญหาค่าเงินของตุรกีขณะนี้ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า ซึ่งหลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์แล้ว ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การขาดดุลการค้า ซึ่งหากอินโดนีเซียนำมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 7.5 ในกลุ่มสินค้าผู้บริโภค (Consumer Goods) 500 รายการ มาใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อการค้าในอาเซียนที่เป็นเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างแน่นอน รวมถึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียน และอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้
โครงสร้างเศรษฐกิจตุรกีเปราะบาง เงินเฟ้อสูง -ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง
ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 ค่าเงินลีราตุรกีเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 63 โดยเป็นการอ่อนค่าร้อยละ 24 นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.12 นับจากต้นเดือน ส.ค. และตลาดหุ้นปรับตัวลดลงร้อยละ 6.34 นับจากต้นเดือนเช่นกัน
ปัญหาวิกฤติการเงินตุรกีมีต้นตอมาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศตุรกีเป็นหลัก เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจตุรกีมีความเปราะบางทั้งจากเสถียรภาพภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเสถียรภาพภายในประเทศมีความเปราะบางจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของประเทศเกิดใหม่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ เสถียรภาพต่างประเทศของตุรกีก็เปราะบางด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเป็นเวลานานนับตั้งแต่ปี 2552 และขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 7 ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2561 โดยตุรกียังมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 53.3 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 36.6 ในปี 2550 โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะสั้น จึงทำให้สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของตุรกีน้อยกว่า 1 เท่า ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศ และนำไปสู่การลดสัดส่วนการลงทุน (exposure) ในตุรกีลง ค่าเงินลีราจึงอ่อนค่าลงอย่างมาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้น และดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลง
ความตึงเครียดทางการเมือง สหรัฐ-ตุรกี ยังคุกรุ่น
ขณะที่ ประเด็นทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้ความกังวลต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากตุรกีไม่ยอมปล่อยนายแอนดริว บรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกัน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559 ขณะเดียวกัน ตุรกีไม่พอใจสหรัฐฯ ที่ไม่มีท่าทีประณามการก่อรัฐประหารในปี 2559
รวมถึงปฏิเสธส่งตัวนายเฟตุลลาห์ กูเลน ที่ลี้ภัยมาในสหรัฐฯ โดยตุรกีกล่าวหาว่านายเฟตุลลาห์เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามโค่นอำนาจในครั้งนั้น จากความไม่ลงรอยระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ ท่ามกลางความเปราะบางทางเศรษฐกิจของตุรกีที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จึงทำให้นักลงทุนเพิ่มความกังวลต่อเสถียรภาพการเงินของตุรกีมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นตัวชนวนของวิกฤติการเงินในครั้งนี้
ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานและยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ธนาคารกลางสูญเสียความน่าเชื่อถือ (policy credibility) โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา จากค่าเงินที่อ่อนค่าลงมากรวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวของสาธารณะ เพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 8 ในปลายปี 2560 เป็นร้อยละ 16.3 ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีนัยสะท้อนว่าธนาคารกลางตุรกีอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายทางการเงิน เพราะไม่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวได้ จึงเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินในระยะต่อไป
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางของตุรกีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง (central bank independence) ด้วยเช่นกัน
ไทยรับผลกระทบในวงจำกัด -สินค้าส่งออกหลัก รถยนต์-เครื่องปรับอากาศ
อีไอซีมองว่าโอกาสที่วิกฤติการเงินตุรกีจะส่งผลกระทบต่อไทยมีจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไทยไปยังตุรกีมีน้อย และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าไปยังตุรกีเพียงร้อยละ 0.5 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยมีสินค้าส่งออกหลักคือ รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ ฉะนั้นวิกฤติการเงินตุรกีจึงกระทบต่อการส่งออกไทยในวงจำกัด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพต่างประเทศ (external stability) อยู่ในเกณฑ์ดี และมีกันชนทางการเงิน (cushion) ที่สูง เนื่องจากไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่าร้อยละ 11 ต่อจีดีพี สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 3.42 เท่า และเงินสำรองระหว่างประเทศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของไทยมีจำนวน 2.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.52 ของจีดีพี)
สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินไทยนั้น ความผันผวนในระยะสั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อโอกาสที่วิกฤติการเงินตุรกีจะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (contagion risk) จึงทำให้เกิดภาวะ risk-off sentiment โดยพบว่าดัชนีตลาดหุ้นและค่าเงินส่วนใหญ่ในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยลด/อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า อีไอซีมองว่าหลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อผลกระทบของวิกฤติในตุรกี ก็น่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดเงินไทยได้ เพราะนักลงทุนน่าจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :