ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กกต.ยืนยัน นายกรัฐมนตรีเปิดเพจได้ พร้อมยอมรับอำนาจชี้ขาดกิจกรรมทางการเมืองของ คสช.ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เพราะถือเป็นกฎหมาย ส่วนการเลือก สว.วันแรก มีเพียง 5 องค์กรเสนอชื่อ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พร้อมด้วย พลตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1 

โดยประธาน กกต.ระบุว่า ได้ชี้แจงขั้นตอนดำเนินการเลือก สว. แก่ 12 หน่วยงานสนับสนุนว่าต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงเรื่องงบประมาณ, วัสดุอุปกรณ์ และการดูแลความสงบเรียบร้อยและเผชิญเหตุ ซึ่งสำนักงานตำรวจอห่งชาติ จะเป็นผู้เสนอแผน หากกำลังไม่เพียงพอก็ขอจากฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงได้ โดยระหว่างนี้ได้เน้นย้ำกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร สว.ที่มีองค์กรมาลงทะเบียนวันแรกแล้ว 5 องค์กรทั่วประเทศ ซึ่งอาจดูน้อยเพราะติดช่วงวันหยุดยาว และแต่ละองค์กรคงเตรียมความพร้อมอยู่ เนื่องจากเปิดลงทะเบียนจนถึงวันที่ิ24 ตุลาคมนี้ จึงยังพอมีเวลา 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไม่มีอุปสรรคปัญหาอะไร เพราะหน่วยงานต่างๆ เคยดำเนินการร่วมกับ กกต.มาแล้ว เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะเป็นการเลือก สว.แบบใหม่ และย้ำว่า กกต.สามารถดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ส่วนระเบียบการหาเสียงทางออนไลน์นั้น กรรมการยกร่าง กำลังจะนำเข้า กกต.เพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ ก่อนเปิดรับฟังความเห็นตามกฎหมาย 

นายอิทธิพร ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการเปิดเพจเฟชบุ๊กของนายกรัฐมนตรีว่า ไม่เข้าข่ายหาเสียง สามารถทำได้ และ กกต. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีบางคนในนามพรรคการเมือง หากไม่ใช้ทรัพย์สินและเวลาราชการก็ไม่เป็นความผิด แต่ กกต.จะตรวจสอบทุกกรณีตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะในมาตรา 22 ของกฎหมาย กกต.ที่ต้องสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวนเพื่อป้องกันและขจัดการกระทำอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริต หรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม 

ทั้งนี้นายอิทธิพร ยืนยันด้วยว่า อำนาจชี้ขาดว่าสิ่งใดเป็นกิจกรรมทางการเมือง เป็นของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ซึ่งไม่ได้ทับซ้อนกับอำนาจ ของ กกต. แต่ คำสั่ง คสช.ถือเป็นกฎหมาย ที่ กกต.และทุกคนต้องปฏิบัติตาม หาก กกต.ไม่สงสัยประเด็นหรือการตีความเรื่องใด ก็สามารถสอบถามและปรึกษา คสช.เพื่อให้เข้าใจตรงกันได้

ส่วนพลตำรวจเอกจรุงวิทย์ ชี้แจงการลงทะเบียนองค์กรเสนอชื่อบุคคลเป็น ส.ว.ว่า ส่งได้จังหวัดละ 1 คนที่องค์กรตามกฎหมายหรือนิติบุคคลจดจัดตั้งสำนักงานใหญ่ แต่หากมีสาขาในจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถส่งได้ทุกพื้นที่หรือ เสนอบุคคลได้สูงสุดถึง 77 คนใน 77 จังหวัดหากมีสาขาครบ 

สำหรับการห้ามเปิดเผยชื่อผู้สมัคร สว.นั้น เพราะกลัวการสมยอม หรือ ฮั้ว กันในการส่งและเลือกกันเอง ซึ่งจะเปิดเผยได้เมื่อประกาศรายชื่อแล้วเท่านั้น และไม่เปิดเผยสำนวนไต่สวนหากมีการร้องเรียน แต่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวองค์กรต่างๆที่มีการเสนอตัวบุคคลและบุคคลที่ถูกร้องเรียนได้ ขณะที่การร้องเรียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทำได้ตลอดเวลา แต่เฉพาะผู้สมัคร ส.ว.เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกและร้องเรียนกันเองได้ ส่วนประชาชน เพียงสามารถแจ้งเบาะแสต่างๆให้ กกต.เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย