ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ยื่น ก.ล.ต.-กทม.ตรวจสอบบมจ.อิตาเลียนไทยฯ กรณีตัดต้นไม้หน้าม.วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รอการอนุมัติ ชี้เป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคารพในกฎกติกาสังคม เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง 12 มี.ค.นี้

จากกรณีที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต สะพานใหม่ คูคต) ตัดต้นไม้ จำนวน 14 ต้น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.61) กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนประกอบด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ , กลุ่ม Big trees นำโดย นางอรยา สูตะบุตร , สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน , เพจเฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ , อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ,กลุ่มจตุจักรโมเดล ,ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ และเพจกรุงเทพเดินสบาย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) กรณีตัดต้นไม้บริเวณทางเท้าหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รอการอนุมัติ

โดยหนังสือระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้สงสัยว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้กระทำการที่แสดงว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคารพในกฎกติกาสังคม ไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เคารพในทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณะหรือไม่

ดังนั้นจึงขอเรียงร้องให้ ก.ล.ต. ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายหรือไม่ และหากเข้าข่ายขอให้พิจารณาให้เกิดบทลงโทษ พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางปฏิบัติในอนาคตที่จะบังคับใช้ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับคุณได้รับโทษอย่างเป็นรูปธรรม



28660272_522265464824671_8313782930668261072_n.jpg

ภาพจากเพจ : เครือข่ายต้นไม้ในเมือง :: Thailand Urban Tree Network


จากนั้น ตัวแทนภาคประชาชนได้เดินทางไปยี่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมขอเสนอข้อเรียงร้อง ดังนี้

1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลต้นไม้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายตลอดโครงการ และเปิดเผยแผนการปฏิบัติที่กำหนดไว้เดิม (ตามสิทธิใน พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ)

2.ขอให้มีการตัดและล้อมย้ายต้นไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้มืออาชีพมากำกับดูแลการทำงาน

3.ขอให้ทำการตรวจสอบต้นไม้ที่มีการขุดล้อมย้ายไปก่อนหน้านี้ ว่ายังปกติดีหรือไม่ หรือตายไปหมดแล้ว หรือถูกนำไปปลูกยังบ้านผู้บริหารหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือไม่

4.ขอให้มีจุดปลูกเสริม หากจำเป็นต้องมีการตัดทิ้งหรือย้ายต้นไม้

5.ขอให้สร้างวิธีการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ ว่าหน่วยงานของท่านได้ดำเนินการตามนั้นจริง

6.ขอให้มีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่ายเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติต่อต้นไม้ คือตัวแทนจาก กทม. ตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนภาควิชาการ มาหารือร่วมกันว่าควรหรือไม่ที่จะตัดหรือย้ายต้นไม้ต้นไหน อย่างไร และกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้

7.ขอให้ทบทวนแนวทางการประเมินคุณค่าของต้นไม้ กรณีที่ต้องถูกตัดทำลายลง เพราะอัตราค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเทียบไม่ได้กับคุณค่าของต้นไม้ในเมืองแต่ละต้น ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้คนเมืองได้มากมหาศาล ทั้งการเป็นเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก และเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดูดซับก๊าซพิษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรใดๆ มาทำหน้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับคนเมืองแทนต้นไม้ในเมืองได้

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ ที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 10.30 น. ภาคประชาชนเตรียมเดินทางไปยื่นฟ้องศาลปกครอง


28685195_522582611459623_553103138529148731_n.jpg


28661187_522582624792955_8129470164999667769_n.jpg

ภาพจากเพจ : เครือข่ายต้นไม้ในเมือง :: Thailand Urban Tree Network


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-'อิตาเลียนไทยฯ' ตัดต้นไม้ผิดทางแพ่ง จ่ายเพิ่ม 1.7 แสนบาท ภายใน 7 วัน

-เขตจตุจักรแจ้งความ 'อิตาเลียน ไทย' ตัดต้นไม้หน้า ม.เกษตรจนกุด