เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย รายงานว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พลเมืองของประเทศเวเนซุเอลาข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศโคลอมเบียประมาณ 550,000 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศเวเนซุเอลาที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายได้ง่าย
“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศเวเนซุเอลาไม่ได้ทำให้คนโคลอมโบต้องหนีกลับประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังทำให้คนเวเนซุเอลาอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศโคลอมเบียด้วยเช่นกัน” คริสเตียน ครูเกอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโคลอมเบียพยายามมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสมแก่ชาวเวเนซุเอลา ซึ่งส่วนใหญ่พักพิงอยู่ตามแนวพรมแดนแถบอเมริกาใต้ที่มีความยาวราว 2,200 กิโลเมตร ด้วยการแจกจ่ายอาหาร ยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน และเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมาริซิโอ คาร์ดินาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า รัฐบาลโคลอมเบียสันนิษฐานว่า ค่าใช้จ่ายของประเทศเกี่ยวกับนโยบายรับผู้ลี้ภัยแบบเปิดกว้าง และความมั่นคงกำลังสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีข้อจำกัดหากการอพยพลุกลามหนัก
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีชาวเวเนซุเอลาลงทะเบียนรับบัตรผ่านแดนแล้วจำนวน 1.3 ล้านคน ช่วยให้พวกเขาเดินทางข้ามประเทศได้แบบถูกกฏหมาย และจากสถิติในปี 2017 แสดงให้เห็นว่า ชาวเวเนซุเอลากว่า 37,000 คน ใช้บัตรผ่านแดนเข้ามาในประเทศโคลอมเบียเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากพวกเขาต้องการซื้ออาหาร และยารักษาโรค ท่ามกลางภาวะขาดแคลนรุนแรงในประเทศของตัวเอง
นอกเหนือจากชาวเวเนซุเอลา 550,000 คน ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศโคลอมเบียแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมา ชาวเวเนซุเอลาอีก 231,000 คน ได้ใช้ประเทศโคลอมเบียเป็นทางผ่าน เพื่อข้ามไปยังประเทศเอกวาดอร์
ทั้งนี้ ฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีประเทศโคลอมเบีย กล่าวว่า รัฐบาลสังคมนิยมของนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ติดอยู่กับความคิดแบบเผด็จการ และยังผลักให้ฝ่ายตรงข้ามลี้ภัยออกนอกประเทศไป
ขณะที่อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในการเยือนโคลอมเบียว่า องค์การสหประชาชาติยินดีมอบความช่วยเหลือ เพื่อให้รัฐบาลเมืองโบโกตาสามารถรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: