ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ภาคีSaveบางกลอย ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า ส่วนตัวมีความกังวล หากการแก้รัฐธรรมฉบับ 2560 ไม่ผ่าน จะมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อที่จะหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไร ถ้าเกิดกระบวนการแก้ไขถูกปัดตกไป อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกเดือดดาล เพราะการแก้ไขอย่างสันติในสภายังเป็นไปไม่ได้
ต่อคำถามว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติหรือไม่ ธนาธรมองว่าถ้าจะมีประชามติ ต้องแสดงให้เห็นถึงประชาชนว่าต้องการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าไปถึงตรงนั้นอยากเชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงพลัง ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตย
"ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะกลับคือสู่ภาวะปกติได้ ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่แก้ไขกลไกในการสืบทอดอำนาจ มันไม่มีทางอื่นต้องช่วยกันผลักดัน" ธนาธร กล่าว
หลังจากนั้น ธนาธร ได้ร่วมปราศรัยในการชุมนุมภาคี Saveบางกลอย x พีมูฟ ภายใต้แคมเปญ 'แตกต่างกันเป็นดอกไม้นานาพันธุ์' #คนเท่ากัน โดยระบุว่า สมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ พื้นที่หมู่บ้านทุเรียน ซึ่งพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอถูกขับไล่ลงมา ภายหลังเกิดคำประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยปราศจากการยินยอม
เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ บางกลอย เพราะถูกอุทยานประกาศทับที่ดินดั้งเดิม ทั้งสองที่อยู่แนวเขาตะนาวศรี และยังเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เหมือนกัน พี่น้องบางกลอยพยายามที่จะกลับคืนสู่ใจแผ่นดิน สิ่งที่เกิดขึ้นใน ปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลับเผาบ้านพวกเขาอย่างจงใจ
หนึ่งในบุคคลที่ออกมาต่อสู้คือ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ถูกอุ้มหายไป เพียงเพราะเขายืนยันสิทธิชุมนุมบ้านเกิด เรื่องราวนี้มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่เคยเห็นหัวประชาชน ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเดือนร้อนเพราะกฎหมายที่ล้าหลัง
วันนี้พวกเขาไม่สามารถทำมาหากิน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จึงตั้งใจหวนคืนสู่ใจแผ่นดินอีกครั้ง เพื่อท้าทายด้วยการทำผิดอย่างเปิดเผย และพร้อมรับผลจากกระทำ ลองมองหน้าพวกเขาว่าเหมือนอาชญากรหรือไม่
"คนที่อยากจะกลับบ้านเป็นอาชญากรหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องของอาชญากรรม ดังนั้นในระหว่างที่กำลังพิจารณา ควรหยุดคุกคามพวกเขา"
เขามองยังมองว่าหน้าที่ของรัฐคือจัดการข้อพิพาท จัดการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ใช่อุ้มหายคนที่เห็นต่างจากรัฐ
"เราอยู่ในประเทศแบบไหนกันที่ต้องมาsaveคนนั้นคนนี้ นี่มันประเทศแบบไหนกัน ที่ประชาชนต้องออกมาปกป้องกันเอง ประเทศแบบไหนกันที่ปฏิบัติกับประชาชนเหมือนศัตรู"
ธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่าพวกเขาคือคนธรรมดาเหมือนเราที่เจ็บปวด เพราะลูกหลานของพวกเขาถูกอุ้มหาย พวกเขาจึงมีสิทธิเสรีภาพเหมือนพวกเรา ในการต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่อนาคตบางกลอย แต่มันเป็นอนาคตของผู้ถูกกระทำย่ำยีจากรัฐ
สำหรับ 4 ข้อเรียกร้องภาคี save บางกลอย ประกอบไปด้วย 1.ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดประชุมคณะกรรมการพีมูฟ
2. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และคืนสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับชาวบางกลอย ภายใน 30 วัน
3. ให้นำผลการประชุมและคำสั่งแต่งตั้ง เข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 16 มี.ค. นี้
4. ให้ชะลอการดำเนินคดีหรือชะลอส่งสำนวนคดีชาวบ้าน 30 วัน
ด้าน เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ หนึ่งในดาราที่ออกมา Call Out สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมปราศรัยในเวทีการชุมนุม Saveบางกลอย x พีมูฟ โดยกล่าวว่า คนทุกคนมีสิทธิมีเสียง มีเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด
แต่คนในเมืองใหญ่กลับมองคนชาติพันธุ์ว่าไม่ใช่คนไทย ไม่มีประโยชน์ทำลายป่า แท้จริงแล้วพวกเขานั้นคือคนชุมนุมดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่รัฐกลับด้อยค่าพวกเขา หลอกหลวงพวกเขาว่าจะให้สิทธิทำกินหรือบัตรประชาชน
ดังนั้นวันนี้ทุกคนที่ออกมาไม่ได้ประโยชน์ส่วนตนทแต่เพื่อให้ชาวบางกลอยได้รับความยุติธรรม และอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงของพวกเขา อย่าเชื่อข้อมูลด้านเดียวจากเจ้าหน้าที่รัฐ
"อยากให้คณะรัฐมนตรีคืนสิทธิให้กับชาวบางกลอยอย่างรวดเร็ว นิติรัฐเป็นสิ่งที่ต้องเคารพแต่ต้องดูด้วยว่าข้อกฎหมายเป็นธรรมกับพวกเขาหรือไม่"