ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากมีข่าวลือออกมาในหลายสัปดาห์ ล่าสุด แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนไต้หวันแล้วในช่วงค่ำวันนี้ (2 ส.ค.) อันเป็นการเมินเฉยต่อคำขู่ของทางการจีนว่า หากประธานรัฐสภาสหรัฐฯ เหยียบเท้าลงเกาะไต้หวันเมื่อไหร่ สหรัฐฯ จะต้อง “ได้รับผลที่ตามมา”

เพโลซีได้เดินทางออกจากมาเลเซียเมื่อช่วงเย็นของวันนี้ ท่ามกลางข่าวลือและรายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า เธอกำลังมุ่งหน้าตรงไปสู่ไต้หวัน เกาะที่มีอำนาจปกครองตนเอง แต่จีนกลับอ้างสิทธิว่าไต้หวันเป็นเพียงแค่มณฑลหนึ่งของตนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กำหนดการเดิมของเพโลซีที่มีการเปิดเผยออกมาระบุว่า ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ จะเดินทางจากสิงคโปร์มายังมาเลเซีย และเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดในตอนแรก ถึงแม้จะมีกระแสข่าวลืออย่างหนาหูก็ตาม

เมื่อข่าวลือในตอนแรกเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงว่าเพโลซีกำลังมุ่งหน้ามาจากมาเลเซีย เพื่อเดินทางเยือนไต้หวัน ทางกองทัพจีนได้ส่งเครื่องบินรบบินขึ้นไปยังเส้นมัธยฐาน ซึ่งเป็นเส้นแบ่งที่ไม่เป็นทางการในช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ก่อนจะมีรายงานจากทางกองทัพจีนว่าตน “เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม”

ในทางตรงกันข้าม กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบของตนจำนวน 4 ลำ ซึ่งจอดอยู่บริเวณทะเลฟิลิปปินส์ และตอนใต้ของญี่ปุ่นแล่นไปยังทางตะวันออกของไต้หวัน ในขณะที่กระแสข่าวลือว่าเพโลซีกำลังมุ่งหน้าตรงมายังเกาะ ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ เพิ่มเติม

หวางอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์โดยอ้อมซึ่งไม่ระบุถึงชื่อว่า นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ “เล่นกับไฟ” ในประเด็นไต้หวันจะ “ไม่พบกับจุดจบที่ดี” อย่างไรก็ดี หวางอี้ไม่ได้ระบุว่าตนหมายถึงเพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้โดยตรง

จากแหล่งข่าวไม่เปิดชื่อระบุว่า เพโลซีจะมีกำหนดการในการเข้ากับผู้นำไต้หวันในช่วงวันพุธที่จะถึงนี้ (3 ส.ค.) ในขณะที่ ซูเจิงชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวันระบุว่า ไต้หวัน “ขอต้อนรับอย่างอบอุ่น” แก่แขกต่างชาติที่มาเยือนทุกคน และ “จะจัดการให้เหมาะสมที่สุด” ทั้งนี้ มีรายงานว่าเว็บไซต์ประธานาธิบดีไต้หวันถูกโจมตีทางไซเบอร์ ก่อนที่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง

จากการแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ของเพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า การเดินทางเยือนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดยคณะของตนในครั้งนี้ เป็นไป “เพื่อการยืนยันความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งและไม่สั่นคลอนของอเมริกา ต่อพันธมิตรและเพื่อนของเราในภูมิภาค”

ก่อนหน้านี้ เพโลซีมีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่แผนดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากเธอติดโควิด-19 หลังจากนั้น รายงานข่าวล่าสุดมีการลือว่า ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงเดือน ส.ค. สร้างความไม่พอใจให้แก่ทางการจีน อย่างไรก็ดี เพโลซีเลือกที่จะเมินเฉยต่อคำขู่ของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ต่อ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ จะพบกับผลลัพ์ที่ตามมา และ “บรรดาผู้ที่เล่นกับไฟจะต้องพินาศด้วยไฟนั้น” สียังได้ยืนยันอีกว่า ตนจะ “ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนอย่างเด็ดเดี่ยว”

ไบเดนในฐานะประมุขฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจใดๆ ในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่อประธานรัฐสภาสหรัฐฯ อย่างเพโลซี ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ ในการเดินทางเยือนไต้หวัน โดยไบเดนได้ออกมาให้ความเห็นว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซีไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ทั้งนี้ เพโลซีที่เดินทางเยือนไต้หวัน เป็นผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ คนที่สอง รองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดือนทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2540 อย่าง นิวท์ กิงริช อดีตประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อ 25 ปีก่อนด้วยเช่นกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ดี จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า ถึงแม้ว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ จะไม่เห็นด้วยนักกับการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภา แต่เพโลซีเอง “มีสิทธิในการเดินทางเยือนไต้หวัน” และ “ตัดสินใจด้วยตัวของเธอเอง” เนื่องจากทำเนียบขาวเคารพการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ

ในทางกลับกัน รัฐสภาสหรัฐฯ จากทั้งสองพรรคของเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างให้การสนับสนุนไต้หวันกันไปในทิศทางเดียวกัน โดยเพโลซีในฐานะประธานรัฐสภาที่มาจากพรรคเดโมแครต ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจของจีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพโลซีเองยังเคยเดินทางเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมิน สถานที่ที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ทำการสังหารมวลชนเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างโหดเหี้ยมในปี 2532

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่สหรัฐฯ หันไปรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2522 แทนรัฐบาลก๊กมินตั๋ง แต่สหรัฐฯ เองยังคงรักษาความสัมพันธ์ในฐานะการเป็นมิตรที่ดีต่อกัน พร้อมกันกับการส่งมอบอาวุธให้กับไต้หวัน เพื่อใช่ในการป้องกันตนเองจากการรุกราน โดยเฉพาะภัยคุกคามจากจีน ตามข้อตกลงที่สหรัฐฯ เคยมีต่อไต้หวันไว้

มีการคาดการณ์ว่า จีนจะตอบรับกับการเยือนไต้หวันของเพโลซีอย่างแหลมคม ด้วยการแสดงแสนยานุภาพ เนื่องจากการเหยียบเท้าลงบนแผ่นดินไต้หวันของประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ถูกทางการจีนมองว่าท้าทายอำนาจอธิปไตยของตน ทั้งนี้ สีประกาศมาเสมอว่า เป้าหมายของตนคือการรวมไต้หวันเข้าามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนให้ได้ ถึงแม้ว่าตั้งแต่ไต้หวันกับจีนจะแตกออกจากกันจากสงครามกลางเมือง รัฐบาลคอมมิวนิสตืจีนจะไม่สามารถเข้าไปปกครองเหนือไต้หวันได้เลย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่จีนจะใช้การยิงขีปนาวุธถล่มใส่ไต้หวันนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ถึงแม้ว่าการเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซีจะถูกจีนมองว่าเป็นการยั่วยุตนก็ตาม แต่จีนอาจเลือกใช้วิธีการยิงขีปนาวุธใกล้กันกับพื้นที่ของเกาะไต้หวัน หรือไม่ก็เป็นอาจมีกิจกรรมทางการทหารในระดับใหญ่ ทั้งจากทางภาคพื้นอากาศและภาคพื้นทะเล ทั้งนี้ ไบเดนเคยตอกย้ำอยู่เสมอว่า สหรัฐฯ พร้อมให้การช่วยเหลือไต้หวัน หากจีนตัดสินใจรุกรานเกาะดังกล่าวในอนาคต

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-62386487

https://www.reuters.com/.../us-navy-deploys-four.../

#VoiceOnline