ไม่พบผลการค้นหา
การประชุมอาเซียนซัมมิทเริ่มขึ้นแล้ว โดยคาดการณ์ว่าประเด็นโรฮิงญาจะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุม ขณะที่ต้องจับตามองท่าทีของสหรัฐฯต่อประเด็นอ่อนไหวต่างๆในอาเซียน ภายใต้การขยายอิทธิพลของจีน

การประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 31 จัดขึ้นที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ในวันที่ 12 - 14 พฤศจิกายนนี้ มีผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และผู้นำโลกที่สำคัญๆ อีกรวมเป็น 21 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติก็จะเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย

โรฮิงญา

Southeast Asia Securi_Rata.jpg

ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ นับตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ความรุนแรงระลอกล่าสุดผลักชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศไปยังบังกลาเทศแล้วกว่า 600,000 คน

หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือ วิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ก่อนการประชุมเพียงไม่นาน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งประชาชาติหรือ UNSC เพิ่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในรัฐยะไข่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนำกลไกการส่งชาวโรฮิงญากลับบ้านไปบังคับใช้จริงตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ รวมถึงรับรองการเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมของชาวโรฮิงญาด้วย โดยคาดว่านายกูแตร์รีชจะกดดันให้ผู้นำอาเซียนมีจุดยืนที่ชัดเจนขึ้นในกรณีโรฮิงญา

ขณะที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็พิจารณาระงับการถอดนายทหารระดับสูงของเมียนมาบางนายออกจากบัญชีคว่ำบาตร และสั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อเมียนมาเพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯ จะผลักดันการคว่ำบาตรเมียนมาระลอกใหม่เพื่อตอบโต้การละเมิดชาวโรฮิงญาด้วย

เกาหลีเหนือ

000_U0485.jpg

ชาวเกาหลีใต้ประท้วงเรียกร้องสันติภาพระหว่างสองเกาหลี ระหว่างที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนเกาหลีใต้ ประชาชนส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้กังวลว่าหากทรัมป์มีท่าทีแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ อาจทำให้เกาหลีเหนือตัดสินใจโจมตีเกาหลีใต้ได้

วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจะถูกพูดถึงมากในการประชุมนี้ โดยสหรัฐฯ อาจพยายามชักจูงให้ผู้นำอาเซียนร่วมกันกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงพัฒนานิวเคลียร์ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับเกาหลีเหนือ หากสามารถโน้มน้าวให้อาเซียนร่วมกดดันเกาหลีเหนือ ก็อาจทำให้มาตรการกดดันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป้าหมายหลักของสหรัฐฯในเรื่องเกาหลีเหนือน่าจะเป็นมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่สหประชาชาติเคยเตือนว่าให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อเกาหลีเหนือมาโดยตลอด โดยมาเลเซียเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเกาหลีเหนือจำนวนมาก ส่วนบริษัทหลายแห่งในสิงคโปร์ก็ถูกกว่าหาว่าทำธุรกรรมทางการเงินให้กับเกาหลีเหนือเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ ขณะที่ไทยก็ยังส่งสินค้าไปขายในเกาหลีเหนือเป็นอันดับ 4 รองจากจีน อินเดีย และรัสเซีย

ก่อการร้าย

000_TQ3YI.jpg

สภาพอพาร์ทเมนท์ที่ใช้เป็นแหล่งกบดานกลุ่มมาอูเต เครือข่าย IS ในเมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ กองทัพฟิลิปปินส์ประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มมาอูเต และยึดเมืองคืนได้แล้วตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2017 หลังการต่อสู้นองเลือดนาน 5 เดือน แต่การปราบปราบกลุ่มก่อการร้ายเครือข่าย IS ยังไม่สิ้นสุดลง

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ฟิลิปปินส์น่าจะหยิบยกขึ้นมาพูดในการประชุมครั้งนี้ก็คือการร่วมมือด้านความมั่นคงในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากฟิลิปปินส์เพิ่งปราบปรามกลุ่มติดอาวุธมาอูเตได้สำเร็จ หลังจากที่กลุ่มมาอูเตเข้ายึดครองเมืองมาราวีนานถึง 5 เดือน และช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอย่างกลุ่มไอเอสหรือดาอิชก็พยายามชักจูงให้พวกสุดโต่งเข้าร่วมการก่อตั้งรัฐอิสลาม รวมถึงเรียกร้องให้มีการแก้แค้นรัฐบาลเมียนมาจากกรณีการกดขี่และปราบปรามชาวโรฮิงญา แม้กลุ่มกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน หรือARSA จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติเหล่านั้นก็ตาม