ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข , กรมวิทย์ จับมือ จุฬาฯ ต่อยอดวิจัยไทยพัฒนายาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันมนุษย์ จากต้นแบบโนเบลปี 2018 หวังผลิตใช้ในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายจากหลักแสนเหลือหลักหมื่นต่อหลอด ตั้งเป้าใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพไทย เพื่อลดป่วย-ตายจากมะเร็ง และเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาการผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการสร้างมาตรฐานใหม่ของการรักษามะเร็งในประเทศไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาประเทศด้วยค่าใช้จ่ายที่เข้าถึงได้ โดยมีการพัฒนาการรักษามะเร็งในทุกด้าน ได้แก่

1.การผ่าตัด ซึ่งมีหุ่นยนต์ผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุด

2.การฉายรังสี ที่ติดตั้งเครื่องฉายรังสีโปรตอนเครื่องแรกของประเทศไทย

3.ยาเคมีบำบัด

4.ยาที่จำเพาะกับมะเร็ง ที่มีการศึกษาทางคลินิกอย่างครอบคลุม

รวมถึง แนวทางที่ 5.ยาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เป็นแนวทางการรักษามะเร็งใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นแนวคิดของการรักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เอง ต่อยอดจากต้นแบบของ ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งค้นพบโมเลกุลสำคัญที่ไปยับยั้งการกำจัดมะเร็งบนภูมิคุ้มกันมนุษย์ โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018 นี้ ซึ่งองค์การอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองแล้วว่ายาภูมิคุ้มกันใช้ได้ผลกับมะเร็งถึง 15 ชนิด

ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จุฬาฯ มุ่งต่อยอดผลิตยาต้านมะเร็งเพื่อคนไทย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย ได้เริ่มสนับสนุนโครงการนี้มาแล้วประมาณ 1 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ดำเนินการมาก่อนที่จะมีการประกาศรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นการระดมทีมแพทย์และนักวิจัยจำนวนมาก แต่อุปสรรคของการดำเนินงานดังกล่าวอยู่ที่การผลิตยาไบโอโลจิกส์เหล่านี้ ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเป็นหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งในต่างประเทศจะมีบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่เข้าไปต่อยอดทดลองและผลิตเป็นยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งโดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และผลิตขายทำกำไร สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้ คือ การต่อยอดต้นแบบยาที่เราคิดค้นขึ้นมาได้แล้ว โดยวิจัยพัฒนาและทำการทดลองในสัตว์และคน เพื่อการผลิตยาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้เกิดขึ้นและนำมาใช้ได้กับคนไทย ซึ่งเราต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการร่วมสนับสนุนทุนเพื่อการต่อยอดวิจัย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแนวทางการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน และเพื่อความสำเร็จร่วมกันของคนไทยที่จะมียาใช้ได้เอง


70558.jpg

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. พร้อมสนับสนุนจุฬาฯ เร่งวิจัยพัฒนาผลิตยาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ที่เรียกกันว่ายาภูมิต้านทานรักษามะเร็ง หรือยาไบโอโลจิกส์ (Biologics) เพื่อนำมาใช้ในประเทศ ภายใต้การผนวกไว้ในแผนการพัฒนาตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) โดยหวังเป้าสำเร็จผลักเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพไทยต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสนใจและเห็นว่าเป็นโครงการที่ควรส่งเสริม โดยล่าสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สวรส. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการวิจัยการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงมอบหมายประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุนโครงการศึกษาต่อยอดวิจัยไทยผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดแนวปฏิบัติและมาตรฐานการดำเนินงานที่ดี ทั้งด้านกฎหมาย จริยธรรม และสังคม ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาสุขภาพประชาชนดีขึ้นด้วย โดย สวรส. จะร่วมให้การสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนา จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนาการผลิตซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ยังขาดอยู่ เพื่อนำยาต้นแบบที่จุฬาฯ คิดค้นขึ้นมาได้นั้นนำเข้าสู่การทดลองในสัตว์และคนหรือกระบวนการสำคัญ โดยหวังได้ตัวยาพร้อมนำเข้าสู่โรงงานผลิตใช้ให้ได้ในประเทศ ซึ่งจะจัดสรรการสนับสนุนทุนตามลำดับขั้นของงวดงานสำคัญๆก่อนหลัง  


70556.jpg

“ทั้งนี้ สวรส. หวังความสำเร็จร่วมกันกับคนไทย หวังให้เกิดการผลิตและนำยารักษามะเร็งจากภูมิคุ้มกันของมนุษย์นี้ผลักดันเข้าระบบสุขภาพหรือระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเพื่อให้คนไทยได้ใช้ยาในราคาที่ถูกลงจาก 200,000 บาทต่อหลอด เหลือเพียง 20,000 บาทต่อหลอด โดยขณะนี้โรงพยาบาลของไทย ต้องนำเข้ายาหลอดละ 2 แสนบาท และต้องฉีดกระตุ้นทุก 3 อาทิตย์ ถ้าให้ได้ผลต้องให้ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี ภูมิคุ้มกันถึงจะไปกำจัดและควบคุมเซลล์มะเร็งได้ หมายความว่าต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าคนละ 8-10 ล้านบาท ซึ่งหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงนับเป็นความก้าวหน้าของระบบสุขภาพเละความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งและคนไทยทั้งประเทศ ที่จะลดความยากลำบากจากการเจ็บป่วยและลดการเสียชีวิตจากมะเร็ง ตลอดจนเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ คงไม่ต้องพูดถึงสถิติคนเจ็บป่วยตายจากมะเร็ง แต่มะเร็งกำลังกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนทั่วโลกไปแล้ว” นพ.นพพร กล่าว 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนวิจัยพัฒนาในเรื่องดังกล่าว โดยครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ของประเทศ และความหวังครั้งใหญ่ ของผู้ป่วยมะเร็งและคนไทย หากมีการพัฒนายารักษามะเร็งจากภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าว ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาตามกระบวนการศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง และการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะต่างๆ เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพในการรักษา ก่อนที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน่วยงานที่มีศักยภาพและมีมาตรฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์สัตว์ทดลอง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ศึกษาด้านเซลล์วิทยาและภูมิคุ้มกัน และสถาบันชีววัตถุ ที่ทำการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนจนถึงเฝ้าระวังหลังการจำหน่าย ซึ่งการสนับสนุนครั้งนี้จะส่งผลให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ศ.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการของคุณหมอฮอนโจจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าที่เรานำมาต่อยอด โดยค้นหาแอนตี้บอดี้ที่หยุดการทำงานไม่ให้ พีดี-1 กับพีดี-แอล 1 จับคู่กันได้ ถ้า 2 ตัวนี้ไม่สามารถจับคู่กันได้ ทีเซลล์ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวหรือระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะทำงานฆ่าเซลล์ร้ายผิดปกติอย่างได้ผล ก็เลยเรียกกันว่ายาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง หรือยาไบโอโลจิกส์ (Biologics) ที่เป็นตัวแอนตี้บอดี้เข้าไปช่วยระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานได้เต็มที่และอาจจะยิ่งได้ผลดีขึ้นถ้าให้ร่วมกับการรักษาอื่นๆด้วย

นักวิจัยกล่าวปิดท้ายว่า ตอนนี้มีเรื่องน่ายินดีมาก เพราะเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากการสนับสนุนของจุฬาฯ ทีมวิจัยสามารถค้นพบแอนตี้บอดี้ต้นแบบแล้ว 1 โคลน หรือ 1 ตัว ที่สามารถหยุดการทำงานไม่ให้พีดี-1 กับพีดี-แอล 1 จับคู่กันได้ ให้ผลในหลอดทดลองใกล้เคียงกับยาแอนตี้บอดี้ราคาแพงของต่างประเทศที่ขายอยู่ กำลังรอตรวจพิสูจน์ว่าในประเทศอื่นๆ มีนักวิจัยพบตัวเดียวกับเราแล้วเอาไปจดสิทธิบัตรหรือยัง ถ้าไม่มีก็พัฒนาต่อเป็นยาได้เลย แต่ถ้ามีแล้วเราก็ต้องค้นหาตัวใหม่ไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 10 ตัว นอกจากยาแอนติ้บอดี้แล้ว ยังมีการพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันโดยการใส่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ที่นำมาตัดต่อยีนให้มีความจำเพาะกับมะเร็งบางชนิดและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้สูงมาก ซึ่งทีมวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่จุฬาฯ กำลังพัฒนาและมีแผนจะเริ่มทดลองรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองภายใน 1 ปี จากการลงทุนของจุฬาฯ เพียง 100 ล้านบาทก็สามารถทำสำเร็จในขั้นที่ 1 ได้แล้ว เนื่องจากการพัฒนายาเหล่านี้มีต้นทุนสูงมาก เช่น กองทุนรักษามะเร็งในต่างประเทศใช้งบประมาณระดับหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การสนับสนุนจาก สวรส. และทุกภาคส่วน จึงมีความสำคัญอย่างมากกับความหวังครั้งใหม่ของการต่อยอดวิจัยพัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและคนไทย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :