ไม่พบผลการค้นหา
สแกน ครม.สัญจร ห้วงโรดแมประยะสุดท้ายของ คสช. ถี่ - หนัก โดยรุกคืบไปที่ฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เยือนถิ่นพรรคประชาธิปัตย์ อัดฉีดงบฯลงกลุ่มจังหวัดใหญ่ทั่วภูมิภาค ปูทางก่อนเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 2562

"ที่ผ่านมามีโครงการไทยนิยมลงไปในระดับพื้นที่อยู่แล้ว จึงเป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ และขอให้ติดตามว่าอะไรเป็นความคืบหน้า ผมไม่อาจพูดได้ว่าที่ทำนั้นดีที่สุด แต่เชื่อว่าไม่ได้แย่ที่สุด และไม่มีใครมีเจตนาไม่ดี เพราะรัฐบาลนี้ไม่มุ่งหวังทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น ขอยืนยัน ส่วนเรื่องการเมืองก็ว่ากันไป ผมไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวด้วย" 

เป็นคำยืนยันล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

และเป็นคำยืนยันที่ออกมาก่อนที่จะเริ่มลงพื้นที่ ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร ครั้งที่ 5/2561 ที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี

หากสแกนจำนวนครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร นับแต่ปี 2560 - ปัจจุบัน รวมแล้วมีทั้งหมด 8 ครั้ง

สัญญาณการนำทัวร์ ครม. เริ่มถี่ขึ้นนับแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 


ประยุทธ์ พิจิตร 611104243.JPG

โดยเริ่มจัด ครม.สัญจร ครั้งแรกของปี 2560 ที่ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. 2560 พร้อมอนุมัติงบประมาณ 2,600 ล้านบาท แก้ไขแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่เพื่อยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาระยะทาง 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นที่กระทรวงคมนาคมเสนอ พ่วงอนุมัติ งบฯ แก้น้ำท่วม ภัยแล้งให้ภาคอีสานและภาคเหนือ 2,107 ล้านบาท

  • ครม.สัญจร จ.นครราชสีมา ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีฐานเสียงทางการเมืองระดับชาติรองจากกรุงเทพมหานคร เพราะมีเขตเลือกตั้ง 15 เขต กว่าครึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ถึง 8 เขต พรรคชาติพัฒนา 4 เขต พรรคภูมิใจไทย 3 เขต

"ผมและคณะฯ ตั้งใจไว้แล้ว ว่าจะเดินทางลงพื้นที่เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ไปยังภาคอื่นๆ ให้ทั่วถึง ขอให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคเป็นอย่างมาก เพราะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560

ถัดจากนั้น 18 -19 ก.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ นำ ครม.สัญจร ครั้งที่ 2/2560 ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา และตรวจราชการที่ จ.สุพรรณบุรี โดยพบกับนักการเมืองเป็นครั้งแรก 

พล.อ.ประยุทธ์ พบกับแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาที่นำโดย 'วราวุธ ศิลปอาชา' ที่โรงเรียนเกษตรกรชาวนา

ทำให้ 'ประภัตร โพธสุธน' แกนนำพรรคชาติไทยพัมนา ระบุว่า "ถ้าประเทศยังไม่ปรองดองก็ไม่ต้องเลือกตั้ง พวกเรารอได้ แต่มีข้อแม้ว่า นายกฯต้องลงพื้นที่บ่อยๆ"

ครม.สัญจร ครั้งนี้ มีมติอนุมัติวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216.17 ล้านบาท


ประยุทธ์ ทรัมป์ 003040208.JPG

โรดแมปเลือกตั้งเริ่มชัดขึ้นอีกครั้ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศต่อหน้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 2 - 4 ต.ค. 2560 โดยย้ำว่า ปี 2561 จะประกาศวันเลือกตั้งออกมาโดยไม่มีการเลื่อนใดๆทั้งสิ้น

"การเป็นประชาธิปไตย มันมาแน่นอน ผมยืนยันในปีหน้า (2561) ผมประกาศวันเลือกตั้งแน่นอน"

เมื่อเจาะไปพื้นที่ภาคกลางที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำลงพื้นที่พบว่า จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ของพรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 4 เขต ส่วนอีก 1 เขตเป็นของพรรคเพื่อไทย ขณะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 5 เขต เป็นของพรรคเพื่อไทย 4 เขต และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 เขต

เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเริ่มประกาศใช้ถึง 2 ฉบับจาก 4 ฉบับ ครม.สัญจร ครั้งที่ 3/2560 ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

27 - 28 พ.ย. 2560 ครม.สัญจร ภาคใต้ จ.ปัตตานี จ.สงขลา โดย ครม. อนุมัติกรอบอัตรากําลังพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 374 อัตรา งบประมาณทั้งสิ้น จํานวน 138 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต่อเนื่อง พ.ศ. 2561-2569 สําหรับการให้ทุนการศึกษา 2,519 คน วงเงิน 570 ล้านบาท

พื้นที่ปัตตานี เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ 2 เขต พรรคภูมิใจไทย 1 เขต พรรคมาตุภูมิ 1 เขต ส่วน จ.สงขลา 8 เขตเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ยกจังหวัด

25-26 ธ.ค. 2560 ครม.สัญจร ครั้งที่ 4/2560 ภาคเหนือนตอนล่าง สุโขทัย - พิษณุโลก โดย ครม. เห็นชอบโครงการแก้น้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ตามแผนเร่งด่วน 1,900 ล้านบาท จากที่มีการขอทั้งหมด 6,500 ล้านบาท เน้นไปที่การขยายพื้นที่รับน้ำหลากบางระกำโมเดล เป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร

พื้นที่สุโขทัย มี 4 เขตเลือกตั้ง โดย 2 เขตเป็นพื้นที่เก่าของพรรคภูมิใจไทย สายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อีก 2 เขตเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ จ.พิษณุโลก 5 เขต เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย 2 เขต และพรรคประชาธิปัตย์ 3 เขต

เข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2561 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างรอการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

สัญญาณการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ พันธมิตร คสช. กำเนิดขึ้นทันที

ไล่ตั้งแต่พรรคการเมืองน้องใหม่ที่ยืนข้างรัฐบาล คสช. ทั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' 

พรรคพลังประชารัฐ ที่มีนักการเมืองหน้าเก่าอยู่เบื้องหลังอย่าง 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' และ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ'  ในนามกลุ่มสามมิตร

ยังไม่นับรวมพรรคการเมืองเก่าที่มีฐานเสียง ส.ส.เดิมที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรได้เสมอ ภายใต้เงื่อนไขเก้าอี้รัฐมนตรี ในการร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง


สนธยา คุณปลื้ม Cover Template.jpg

นักการเมืองแถวแรกที่กระโดดเข้าไปร่วมเป็นกุนซือให้กับรัฐบาล คสช.มาจากพรรคพลังชล โดยนายสนธยา คุณปลื้ม ถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 

ขณะที่การเดินเกมผู้มีบารมี 'พรรคพลังประชารัฐ' ทำให้เกิดกระแสข่าวว่ามี 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นมือประสานในฐานะคนเคยอยู่ร่วมพรรคไทยรักไทยมาก่อน

คำสัญญาของนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศตั้งแต่ต้นปี 2561 ก็ออกมาทันทีว่า "การเลือกตั้งไม่เกินเดือน ก.พ.ปี 2562 จะเอาอะไรกันอีก แต่จะวันเวลาไหนก็อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวนั่นแหละ ประมาณ 150 วัน"

5 - 6 ก.พ. 2561 ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ของปี 2561 ภาคตะวันออก จ.จันทรบุรี - ตราด พื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะ จ.จันทบุรี เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 3 เขตเลือกตั้ง ขณะที่ จ.ตราด 1 เขต เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ 

มติ ครม.นัดนี้ได้อนุมัติหลักการโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยได้อนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ในระยะที่ 1 จำนวน 80 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 

พร้อมทั้งรับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออกของกระทรวงคมนาคม โดยการพัฒนาด้านการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างถนนในพื้นที่ภาคตะวันออก วงเงินงบประมาณระหว่างปี 2557 - 2562 รวม 77,323.283 ล้านบาท

ครม.สัญจรภาคตะวันออก พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะได้พบผู้นำท้องถิน อดีต ส.ส. ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังชล ของตระกูลคุณปลื้ม

ถัดจากนั้น 1 เดือน ครม.สัญจร ครั้งที่ 2/2561 ภาคกลางตอนล่าง เกิดขึ้นวันที่ 5 - 6 มี.ค. ในกลุ่ม จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สมุทรสาคม และ จ.สมุทรสงคราม

มติ ครม.ครั้งนี้ เห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติม แก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี 573 ล้านบาท เห็นชอบก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเพชรบุรีระยะที่ 3 วงเงิน 25 ล้านบาท  

เห็นชอบโครงการสนับสนุนการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สมุทรสงคราม วงเงิน 563.39 ล้านบาท เห็นชอบโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เลนงอกใหม่ จ.เพชรบุรี ปลูกป่าชายเลนจำนวน 625 ไร่ รวม 84.49 ล้านบาท โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลาอ่าวไทยฝั่งตะวันตก จ.สมุทรสงคราม วงเงิน 57 ล้านบาท เห็นชอบโครงการจ้างที่ปรึกษาและออกแบบสถานที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย จ.สมุทรสงคราม 10 ล้านบาท 

สแกนพื้นที่ฐานเสียงของ 4 จังหวัดที่ ครม.สัญจรลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี 3 เขตเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ยกจังหวัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 เขตเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ยกจังหวัด  

จ.สมุทรสาคร 3 เขต ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 2 เขต และพรรคเพื่อไทย 1 เขต ส่วน จ.สมุทรสงคราม 1 เขตเป็นของพรรคประชาธิปัตย์

ความเคลื่อนไหวที่ลงพื้นที่หนักขึ้นอย่างหนักของ รัฐบาล คสช. ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการนำโครงการไทยนิยมยั่งยืน อัดฉีดงบประมาณ ลงสู่หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 200,000 บาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกของโครงการประชารัฐ ที่ไปสอดคล้องกับคำว่า ประชานิยม 

จนทำให้ถูกเสียงวิจารณ์ นี่คือการหาเสียงล่วงหน้าผ่านโครงการของภาครัฐ

ร้อนที่สุดของลงพื้นที่ ครม.สัญจร เกิดขึ้นในนัดที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 7 - 8 พ.ค. 2561 ภาคอีสานตอนล่าง สุรินทร์ - บุรีรัมย์ 

พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้รับการต้อนรับยิ่งใหญ่ที่สุด

เมื่อ 'เนวิน ชิดชอบ' ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ควงแขน 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปิดสนามช้าง อารีน่า เติมพลังมวลชนคนจังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นเต็มทุกทีนั่งกว่า 30,000 คน พร้อมส่งเสียงเชียร์หัวหน้า คสช. ดังกึกก้อง


ประยุทธ์ เนวิน Template.jpg

นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ โปรยยาหอมว่า

"จังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีความสงบสุข อยู่ร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี ไม่มีการทะเลาะ และแบ่งแยกสี เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชนที่รักใคร่กัน"

“ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้มาเพื่อการเมือง การเดินทางมาประชุม ครม. ในครั้งนี้ไม่ใช่ลงมาเพื่ออนุมัติงบประมาณ 10,000-20,000 ล้านอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ขอให้ทุกคนได้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญด้วย ไม่ใช่อะไรก็การเมืองทั้งหมด เพียงแต่ช่วงนี้เป็นการเดินหน้าสู่เรื่องของการเลือกตั้ง หลายคนจึงมองว่าเป็นงานการเมือง การที่รัฐบาลเดินทางมานี้ มุ่งหวังจะไปให้ครบทุกจังหวัด แม้จะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เลือกไปให้ครบทุกกลุ่มจังหวัดก่อน” นายกรัฐมนตรี ระบุหลังการประชุม ครม.สัญจรนัดนี้

ผลการประชุม ครม.สัญจร ภาคอีสานตอนล่าง ยังอนุมัติงบฯ แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง 20 โครงการ วงเงิน 3,476.65 ล้านบาท พร้อมทั้งรับทราบหลักการให้มีการขยายโครงข่ายคมนาคมทางถนน อากาศ เตรียมปรับปรุงสนามบินบุรีรัมย์ และศึกษาโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ 

  • ฐานเสียงทางการเมือง จ.บุรีรัมย์ ทั้ง 9เขต ตกเป็นของพรรคภูมิใจไทย ด้วยบารมีของตระกูลชิดชอบถึง 7 เขต และแชร์ส่วนแบ่งให้กับพรรคเพื่อไทย 2 เขต ขณะที่จ.สุรินทร์ 8 เขต เป็นของพรรคเพื่อไทย 7 เขตเกือบยกจังหวัด แบ่งให้พรรคภูมิใจไทย 1 เขต

11 - 12 มิ.ย. 2561 ครม.สัญจร ครั้งที่ 4 ของปี ครั้งนี้มุ่งขึ้นซ้ำ ภาคเหนือตอนล่าง อีกครั้ง โดยเน้นลงพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ที่แย่งเก้าอี้ ส.ส.กันอย่างหนักหน่วงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

  • จ.พิจิตร 3 เขต เป็นของพรรคชาติไทยพัฒนา 2 เขต ซึ่งมาจากสายของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ล่วงลับไปโดยส่งต่อให้กับทายาท อย่าง ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เป็นผู้สืบทอดแทน ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า 'ศิริวัฒน์' ยังไม่ยืนยันสถานะจะอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนาต่อหรือไม่ อีก 1 เขตเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์
  • จ.นครสวรรค์ เมืองปากน้ำโพ 6 เขต เป็นฐานเสียงของ 3 พรรคการเมือง แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 4 เขต พรรคชาติไทยพัฒนา 1เขต และพรรคประชาธิปัตย์ 1 เขต

ผลประชุม ครม.สัญจรนัดนี้ เห็นชอบอนุมัติแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง โดยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) ด้านโครงสร้างพื้นฐานมีข้อเสนอให้ขยายถนนรวม 486 กิโลเมตร วงเงิน 26,820 ล้านบาท ในวงเงินงบประมาณปี 2562-2565

ระหว่างลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ จกาสถานีรถไฟชุมแสง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ไปยัง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ได้ทักทายประชาชนว่า "อย่าลืมไปเลือกตั้งนะ" ท่ามกลางเสียงประชาชนบอกว่าให้อยู่ยาวไป 10 ปี

"ที่ให้ไปไทยนิยม 2แสนเอางวดแรกไปก่อน ไอ้ที่เหลือเดี๋ยวก็ให้งวดหน้าก็ได้ ใช่ไหมจ๊ะ"
"นายกฯไม่ได้ทำแบบการเมือง ทำด้วยความต้องการของประชาชน" หัวหน้า คสช. ระบุต่อหน้าประชาชน จ.นครสวรรค์

ครม.สัญจร เมืองปากน้ำโพ ยังปรากฎนักการเมืองในกลุ่มภาคเหนือตอนล่างจากหลายค่ายแสดงตัวพบหัวหน้า คสช.

ไล่ตั้งแต่ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็น อนันต์ ผลอำนวย - ปริญญา ฤกษ์ห่ราย

นักการเมืองสายกลางอย่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ - พีระเดช ศิริวันสาณฑ์ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา  

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย สงกรานต์ จิตสุทธิภากร 

รวมถึงนักการเมืองในค่ายของสมศักดิ์ เทพสุทิน อย่าง 'อนุชา นาคาศัย' อดีต ส.ส.ชัยนาท ก็ร่วมพบปะถึงหน้าเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถาในเวทีพบผู้แทนเกษตรและผู้นำท้องถิ่น

จังหวะขยับทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ หนักขึ้น เพราะเป็นห้วงเข้าสู่โรดแมประยะสุดท้าย 

เป็นจังหวะที่ขยับในระหว่างรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 3 เดือน 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐบาล คสช. จึงหนักและถี่ขึ้นแทบทุกเดือน 

ครม.สัญจร ครั้งที่ 5/2561 ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ โดยมุ่งไปตีฐานเสียง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง

ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างนี้ ประกอบด้วย อุบลราชธานี - อำนาจเจริญ - ยโสธร - ศรีสะเกษ

อุบลราชธานี 11 เขต ฐานที่มั่นใหญ่ของ พรรคเพื่อไทย ถึง 7 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 3 เขต และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 เขต

อำนาจเจริญ 2 เขต พรรคเพื่อไทย 1 เขต และพรรคประชาธิปัตย์ 1 เขต

ยโสธร 3 เขต ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยยกจังหวัด

ศรีสะเกษ 8 เขต ฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคเพื่อไทย 7 เขต พรรคภูมิใจไทย 1 เขต


ประยุทธ์ จันทร์โอชา Cover Template.jpg

"การลงพื้นที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีลงไปคนเดียว แต่ไปกันทั้ง ครม. ที่กำกับดูแลงานตามฟังก์ชั่น อีกทั้งเป็นการบูรณาการกับคณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัดและระดับภาค ที่ผ่านมามีโครงการไทยนิยมลงไปในระดับพื้นที่อยู่แล้ว จึงเป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ก่อนถึงคิวลงพื้นที่อีก 1 สัปดาห์

และยังไม่นับรวมกับปฏิบัติการของ คสช.ที่่เพิ่งผ่าน พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมประจำงบประมาณ พ.ศ.2561 หรืองบกลางปี ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระรวด ด้วยวงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท

มุ่งอัดฉีดไปที่ 'กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก' กว่า 1.38 หมื่นล้านบาท โดยเติมงบฯ ให้กระทรวงมหาดไทย ถึง 3.18 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปกระตุ้นการใช้จ่ายในหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศกว่า 82,000 แห่ง

หว่านงบฯ อัดฉีดผ่านกองทุนประชารัฐ ไปพร้อมกับ รอวันกำเนิดอย่างเป็นทางการของ 'พรรคพลังประชารัฐ' โฉมหน้าแกนนำพรรคจะเป็นเช่นไร อีกไม่นานเกินรอจะได้เห็นกัน

ยิ่งนับรวมฐานเสียงทางการเมืองที่ รัฐบาล คสช. ลงไปเจาะผ่าน ครม.สัญจร ปี 2560 - ปัจจุบัน ครม.สัญจร 8 ครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ สามารถไปหว่านนโยบาย 'ประชารัฐ' อย่างใกล้ชิด แถมยังกระทบฐานที่มั่น พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส.ไปถึง 47 เก้าอี้ พรรคประชาธิปัตย์ อีก 34 ส.ส.  พรรคภูมิใจไทย 15 ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา 8 ส.ส. พรรคชาติพัฒนา 5 ส.ส. และพรรคมาตุภูมิ 1 ส.ส.

'ประชารัฐ' เข้าไปรุกคืบฐานเสียงของสองพรรคการเมืองใหญ่ได้ถึง 81 ส.ส.

นี่คือเป้าหมายที่ พรรคการเมืองในสังกัด คสช. มุ่งหมาย เพราะมีผลลัพธ์ถึงการเลือกตั้งในปี 2562

เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อสานต่อ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ด้วยการนำกลไกไทยนิยมยั่งยืนไปฝังรากลึกทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศ ตามแนวคิดของ คสช.ที่ว่า 'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' !!!

หมายเหตุ - เขตเลือกตั้ง ยึดจากการแบ่งเขต ส.ส. ของปี 2554

เจาะฐานเสียง ครม.สัญจร ปี 2560 - ปัจจุบัน

  • เพื่อไทย 47 ส.ส.
  • ประชาธิปัตย์ 34 ส.ส.
  • ภูมิใจไทย 15 ส.ส.
  • ชาติไทยพัฒนา 8 ส.ส.
  • ชาติพัฒนา 5 ส.ส.
  • มาตุภูมิ 1 ส.ส.
หาเสียง ครม สัญจร ประยุทธ์ 170718_CabinetTour-01.jpg

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง