ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใช้ 'ทางลอดฟ้าฮ่าม-ขัวสรีเวียงพิงค์' อย่างเป็นทางการ แก้ปัญหาจราจรติดขัดรอบเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่คอขวดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง ลดเวลาเดินทางคนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทางลอดฟ้าฮ่าม และ ขัวสรีเวียงพิงค์ บริเวณจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 1001 (สามแยกแม่โจ้) จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรรอบเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่คอขวดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง โดยรูปแบบทางลอดและสะพานออกแบบให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เช่น โคมไฟ หอซุ้ม ราวสะพาน รวมถึงลานใต้สะพานเพื่อจัดกิจกรรมของชุมชนในงานประเพณีต่างๆ


vlcsnap-2018-06-09-15h05m06s142.jpgทางลอดฟ้าฮ่าม-เชียงใหม่

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ทางหลวงหมายเลข 11 ตอน อินทร์บุรี-เชียงใหม่ เป็นทางหลวง แผ่นดินสายหลักเชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดภาคกลางกับภาคเหนือด้านตะวันออกและภาคเหนือ ด้านตะวันตก ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางสู่ภาคเหนือได้ก่อสร้างช่วงเชียงใหม่-ลําปาง เป็นช่วงแรก มีขนาด 2 ช่องจราจร ต่อมาได้รับการขยายให้มีขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ นับเป็นทางหลวงสายหลักในการ เดินทางสู่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความสําคัญในการเดินทางของประชาชน ใช้ในการขนส่งสินค้าการเกษตร และสินค้าพื้นเมือง

รวมทั้งเป็นเส้นทางในการเดินทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจ.เชียงใหม่ และถือเป็นถนนวงแหวนรอบในของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางลอดที่บริเวณจุดตัดกับทางหลวงอื่นๆ ในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่แล้วหลายแห่ง

vlcsnap-2018-06-09-15h04m23s221.jpg

ทั้งนี้ การก่อสร้างทางลอดฟ้าฮ่าม แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • งานทางลอด ก่อสร้างตามแนวทางหลวงหมายเลข 11 เส้นทางขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ ยาว 533 เมตรและกว้าง 31 เมตร
  • งานก่อสร้างและขยายความกว้างสะพานข้าแม่น้ำปิง จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร ความยาว 140 เมตรและก่อสร้างสะพานคู่ขนานขนาด 2 ช่องจราจร ด้านซ้ายทางและขวาทางของสะพานเดิม ความยาว 160 เมตร รวมงานบันไดเชื่อมต่อ ทางเท้าสะพานจำนวน 4 แห่ง
  • งานก่อสร้างและขยายทางหลวงหมายเลข 11 โดย ขยายช่องทางจราจรในทางหลักจาก 4 ช่องจราจร 6 ช่องจราจร ก่อสร้างและขยายทางคู่ขนานอย่างน้อย 3 ช่องจราจร

ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,172,771,000 บาท โดยมีบริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับเหมา ซึ่งหลังการดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น ได้รับการเสนอชื่อทางลอดว่า 'ฟ้าฮ่าม' และ ชื่อสะพานข้ามแม่น้ำปิงคือ 'ขัวสรีเวียงพิงค์' เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน ผู้ใช้ทางในจ.เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง สามารถลดระยะเวลาในการเดินทาง

ตลอดจนแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น