ไม่พบผลการค้นหา
ครม.ยึดตามมติบอร์ดค่าจ้างกลางชง กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ต่ำสุด 308 บาทต่อวัน สูงสุด 330 บาทต่อวัน 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด มีผล 1 เม.ย. 2561 พร้อมออก 3 มาตรการดูแลผู้ประกอบการ ให้สิทธิลดภาษี 1.15 เท่า

30 ม.ค. 2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด และมีอัตราค่าจ้างต่ำสุด 308 บาทต่อวัน และสูงสุด 330 บาทต่อวัน ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 (บอร์ดค่าจ้างกลาง) ซึ่งได้ดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 ตามผลการศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา ประกอบกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้  

โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด ดังนี้

308 บาทต่อวัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 

310 บาทต่อวัน มี 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

315 บาทต่อวัน มี 21 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

318 บาทต่อวัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

320 บาทต่อวัน มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงาน ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

325 บาทต่อวัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

330 บาทต่อวัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบ 3 มาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ 1) มาตรการด้านภาษี โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่ให้แก่ลูกจ้าง มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 1.15 เท่า ของค่าจ้างรายวันที่จ่าย สำหรับค่าจ้างที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค. 2561ซึ่งต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม ที่ผู้ประกอบการได้กำหนดประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 อีกทั้งผู้ประกอบการต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 5,400 ล้านบาท

2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี (2561-2563) จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและให้คำปรึกษา โดยกลุ่มเป้าหมายตลอดระยะเวลาโครงการมีผู้ประกอบการ 50,000 กิจการ และบุคลากรในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการถ่ายทอดความรู้ 250,000 คน ซึ่งคาดว่า เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 10% และช่วยประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 3-5% ของต้นทุนทั้งหมด 

สำหรับการทำมาตรการนี้ หากประมาณการมูลค่าเพิ่มจากเอสเอ็มอี ประมาณ 1.8 ล้านบาท/กิจการ จะพบว่าสามารถลดต้นทุนขั้นต่ำเฉลี่ยได้ 3% จะช่วยประหยัดหรือลดต้นทุนได้เฉลี่ย 54,000 บาท/กิจการ หรือ รวมเป็น 270 ล้านบาท/ปี (ดำเนินการในปีแรก 5,000 กิจการ)

3) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน ประกอบด้วย 3.1 ปรับปรุงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำระบบด้านดิจิทัลมาใช้ในกิจการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ระยะเวลา 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 50% ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุง และ 3.2 การปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (Merit) เพื่อขยายให้ครอบคลุมครอบคลุมการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ การออกแบบ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน /ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น