รัฐมนตรีพาณิชย์ ตั้งเป้าพาประเทศไทยหลุดออกจากบัญชี Wacth List หรือประเทศที่จับตามอง เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ แจงพร้อมเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ให้สอดคล้องมาตรฐานสากล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสหรัฐประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย จากบัญชีประเทศต้องจับตามองพิเศษ หรือ PWL เป็น ประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ WL หลังจากได้เสนอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR พิจารณานอกรอบ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่สหรัฐอเมริกาประกาศถอนไทยออกจากบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า การดำเนินการจะไม่เพียงแค่นี้ เพราะมีความมุ่งมั่นจะทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะออกจากบัญชีถูกจับตามอง หรือ WL ในอนาคต ด้วยการดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างปรับปรุงพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความรวดเร็วมากขึ้น จากปัจจุบันมีมากกว่า 8,000 คำขอต่อปี และกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำการจดสิทธิบัตรให้ได้ 4,000 เรื่องต่อปี จากอดีตทำได้ 1,000 เรื่องต่อปีเท่านั้น และการดำเนินการเรื่องที่ 4 คือการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ทั้งนี้ การปรับสถานะประเทศไทยหลุดจากบัญชีต้องจับตามองพิเศษในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกา พิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP แก่ประเทศไทย โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2560) ไทยมีมูลค่าส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปยังสหรัฐ 4,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และใช้สิทธิ์มากถึงร้อยละ 72 ในกลุ่มสินค้า เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบยานยนต์ เป็นต้น
รวมทั้ง การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ในอุตสาหกรรมคอนเทนส์ อาทิ ภาพยนต์ แอนิเมชั่น เพลง เกมส์ ที่มีมูลค่า 253 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 197 ล้านบาท ซึ่งสนับสนุนมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสื่อคอนเทนต์ในประเทศ ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.3 เท่า จาก 24,000 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 56,000 ล้านบาทในปี 2558
อีกด้านหนึ่ง การปรับสถานะครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่เฉพาะแต่นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา แต่จะเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทยในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ดิจิตอล หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า นอกจากการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในส่วนของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเตอร์เน็ตไปแล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในส่วนของการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์และทรัพย์สินทางปัญญาในภาพรวมภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับพันธกรณีจากความตกลงโดฮา เพื่อให้การบังคับใช้สิทธิ หรือ CL สามารถใช้ได้ง่ายขึ้นตามข้อยืดหยุ่นที่องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดทางให้ เพื่อให้การผลิตยาที่มีสิทธิบัตรเพื่อส่งออกได้ หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมนำเข้าให้ยาราคาไม่แพงเกินไป เป็นต้น
ส่วน ประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่อาจปิดกั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย และเป็นประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศไทยปรับปรุงมาตลอด อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ในการหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย