นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว และพบปะพี่น้องเกษตรกรในอำเภอเขื่องใน ซึ่งเข้าร่วมโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูดซับผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงออกสู่ตลาดมาก
“ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้บริหารจัดการข้าวที่ค้างสต๊อกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจนทำให้ ไม่มีผลกระทบต่อราคาตลาดอีกต่อไป รวมทั้งมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปีนี้จึงมีความมั่นใจว่าจะรักษาปีทองของชาวนาสามารถขายข้าวหอมมะลิได้ราคาดีเช่นนี้ต่อไป”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในระยะต่อไปรัฐบาลจะมุ่งหน้าสู่การตลาดนำการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่บิดเบือนให้กลไกตลาดเสียหาย และจะรักษาราคาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อไป โดยจูงใจให้ทั้งห่วงโซ่การผลิตและการค้าข้าวเก็บข้าวไว้ในช่วงออกสู่ตลาด “โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด”
โดยในปีฤดูกาลผลิต 2561/62 คณะรัฐมนตรีมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยให้ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ แก่เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกิน 18,000 บาท คิดเป็นรายได้ที่เกษตรกรได้รับต่อตัน 2,500 – 3,750 บาท และเกษตรกรที่มียุ้งฉางสามารถนำข้าวเปลือกมาร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท
ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวตันละ 4,000 – 5,250 บาท นอกจากนั้น เมื่อเกษตรกรนำข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉางจำหน่ายจะได้รับราคาสูงกว่าช่วงที่ผลผลิต ออกสู่ตลาดมาก ซึ่งคาดว่าจะได้รับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ต่ำกว่าตันละ 16,000 – 17,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อรวมราคาได้ที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินมาตรการในปีนี้ เกษตรกรจะได้รับราคาจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละประมาณ 22,000 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. โอนเงินค่าเก็บเกี่ยวเข้าบัญชีเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่ประกาศภัยพิบัติแล้วทุกราย จำนวน 2,054,173 ราย รวมทั้งสิ้น 28,943,604,375 บาท
กรณีเกษตรกรรายใดไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง แต่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกรสามารถ นำข้าวไปฝากเก็บกับสถาบันเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท หรือ หากมีความประสงค์จะสร้างยุ้งฉางเองสามารถขอรับสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉาง โดยรับภาระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี เมื่อนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการฯ ก็จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เช่นกัน
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าว ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วไปเก็บสต๊อกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ดังนั้น จากมาตรการของรัฐบาลดังกล่าว เกษตรกรชาวนาจึงมั่นใจได้ว่า จะได้รับรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในเกณฑ์สูงต่อไป