ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และในฐานะอดีตนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ บรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในสภาฯ อธิบาย ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเพราะเป็นการกระทำของรัฐบาล เป็นเพียงการไม่รับคำร้อง ไม่ใช่การตัดสินแล้ว ไม่มีผลผูกพันกับสภาผู้แทนฯ ยก "หลังม่านการเมือง" วิษณุอ่านประกอบอภิปรายกลางสภา

"การอภิปรายของผมคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร ผู้แทนของประชาชน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เป็นอำนาจอธิปไตย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมพูดต่อจากนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศ"

คำกล่าวในตอนหนึ่งซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ผู้ซึ่งกำลังทำหน้าที่ของผู้แทนของราษฎร ในการประชุมอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร เกริ่นว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ตนเองได้เป็นคนหยิบยกเรื่องคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาอภิปรายหารือ เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการถวายสัตย์ปฏิญาณ อันอาจจะทำให้คณะรัฐมนตรีนั้นยังไม่สามารเข้ารับหน้าที่ได้ ตนจึงพยายามหยิบยกประเด็นขึ้นมาหารือ เพื่อจะร่วมกันหาทางแก้ไขให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับโอกาสให้อภิปรายชี้แจงเพียงพอ เพราะมี ส.ส. ประท้วง คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ตอบให้กระจ่างชัด สุดท้ายนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เตือนสติตนในที่ประชุมว่า "ยังไม่เห็นคลิปยังไม่ทราบว่า จริงหรือเท็จ แต่ผู้พูดต้องรับผิดชอบ เพราะมีการถ่ายทอด เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงนะครับ ผู้พูดต้องรับผิดชอบ" 

"ผมเองในฐานะเป็นผู้อภิปรายเปิดประเด็นตั้งข้อหารือในวันนั้น ผมพร้อมรับผิดชอบอย่างแน่นอน แต่ผมไม่มั่นใจครับว่า ตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ซึ่งเป็นผู้กล่าวนำการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ กำหนด กล้าที่จะรับผิดชอบ ในการกระทำของตัวเองบ้างหรือไม่" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า หากวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ครบถ้วน ปัญหาต่างๆ ก็จะทุเลาเบาบางลงกว่านี้ เราจะไม่เกิดปัญหาที่ยากแก่การแก้ไข พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะหยุดการแถลงนโยบายในรัฐสภาไว้ก่อน และหาทางทำเรื่องขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงกลับมาแถลงนโยบาย แล้วคณะรัฐมนตรีก็จะได้เข้ารับหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์นิ่งเงียบ ไม่ชี้แจงไปสองสัปดาห์ จึงเริ่มออกมายอมรับอย่างชัดแจ้ง แล้วก็มีปัญหาทางกฎหมายพัวพัน เพราะว่า คณะรัฐมนตรีได้เข้ารับหน้าที่แล้ว มีการประชุมกันทุกวันอังคารไปแล้วหลายครั้ง มีการออกมติคณะรัฐมนตรี และการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งมากมาย รวมถึงการอนุมัติงบประมาณต่างๆ เต็มไปหมด ก็ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา

"สื่อมวลชนถามผมหลายครั้งครับว่า ตัวผมเองไปรู้ได้อย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ สื่อมวลชนถามว่ามีหนอนบ่อนไส้ในรัฐบาลหรือเปล่า แอบเอาเรื่องนี้มาบอกผม มีใครส่งข้อมูลมาให้ผมอภิปรายไหม"

ผมก็ยืนยันกับสื่อมวลชนไปครับว่า รัฐบาลชุดนี้ของท่านไม่มีหนอนบ่อนไส้แน่นอน แต่ผมรู้ด้วยตนเอง เพราะว่าปกติแล้ว ผมจะเป็นคนที่ติดตามข่าวในพระราชสำนักอยู่เสมอครับ โดยเฉพาะข่าวที่กรณีบุคคลหรือองค์กรต่างๆ นั้น ไปเข้าเฝ้า เพราะผมต้องการรับทราบถึงพระราชดำรัส พระราชกระแสของพระบทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

นายปิยบุตร อภิปรายต่อว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ตนตั้งใจดูคลิปข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็รู้ทันทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ สาเหตุก็เพราะตนศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาค่อนชีวิต ประกอบอาชีพบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในคณะนิติศาสตร์ ตนทราบดีว่าทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และถ่้อยคำจะมีประโยคนี้เหมือนกัน คือ "ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

ปิยบุตร

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมถวายสัตย์ฯ ไม่มีผลผูกพันกับสภาผู้แทนฯ

ในการอภิปรายครั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการอธิบายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 แม้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งไม่รับวินิจฉัยปมถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่สภาฯ ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและรองประธานสภาฯ และมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าญัตติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยผู้เสนอญัตติมีสิทธิ์ที่จะสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอคำแนะนำ จึงอนุญาตให้มีการบรรจุญัตตินี้

ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงความเป็นห่วงว่า การดำเนินการของสภาฯ และการอภิปรายในครั้งนี้จะขัดต่อกฎหมาย ซึ่งนายชวน ได้ชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ผูกพันต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่ง แต่ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่ได้ทำให้ญัตติต้องตกไป การอภิปรายเป็นการใช้สิทธิเพียงให้คำแนะนำ

ก่อนจะเข้าประเด็นอภิปราย นายปิยบุตรจึงชี้แจงถึงกรณีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 ก.ย. 2562 ที่ศาลไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปนั้น ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการอภิปรายในญัตติในวันนี้ ตนขอเวลาชี้แจงเพื่อที่สมาชิกฯ จะได้ไม่ต้องลุกขึ้นมาประท้วงว่า "ศาลตัดสินแล้ว" 

นายปิยบุตร อธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญท่านวางหลักเอาไว้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็น "การกระทำของรัฐบาล" ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงบอกว่าไม่รับเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีทางที่ออกจะไม่รับด้วยการบอกว่ากรณีประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ "ไม่ได้กระทบสิทธิใดๆ ไม่ได้ทำให้ผู้ร้องเสียหายใดๆ" และไม่รับคำร้องก็ได้

เขาอธิบายในหลักวิชานิติศาสตร์ต่อว่า ตามทฤษฎีเรื่องการกระทำของรัฐบาล ริเริ่มมาในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคิดขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ศาลเข้าไปมีส่วนร่วมในการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นทางนโยบาย หรือประเด็นทางการเมือง เนื่องจากกลัวว่าวันหนึ่งจะเกิดสภาวะการปกครอง การบริหารประเทศโดยผู้พิพากษาขึ้นมา จึงพยายามกันศาลออกจากตรงนี้ ทีนี้อาจเกิดข้อกังวลว่าอะไรบ้างที่ถือเป็นการกระทำของรัฐบาล นักวิชาการก็สรุปกันมาแล้ว กระทั่งระบบกฎหมาย และแนวทางคำพิพากษาของไทย ก็รับมาใช้เรียบร้อยแล้ว คือ

หนึ่ง การกระทำใดก็ตามที่เป็นความสัมพันธ์ของรัฐสภากับคณะรัฐมนตรี เช่น การยุบสภาผู้แทนราษฎร การเปิดประชุมสภา การปิดประชุมสภา เป็นต้น

สอง การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การประกาศสงคราม การลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ เรื่องพวกนี้ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาในทางนโยบายทางการเมือง เป็นการกระทำของรัฐบาล องค์กรตุลาการจะไม่รับตรวจสอบวินิจฉัย

นายปิยบุตร เคลียร์ข้อข้องใจ เนื่องจากมีข้อความประกอบตอนท้ายในเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญ อย่างที่นายชวน ได้ยืนยันไปว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เวลาศาลจะวินิจฉัยสิ่งใด ศาลต้องทำเป็นคำวินิจฉัย แต่ ในวันที่ 11 ก.ย. 2562 เป็นเพียงเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำวินิจฉัย ดังนั้น จึงไม่ได้ผูกพันกับสภาฯ ผลมีแค่เพียงศาลไม่รับคำร้องเท่านั้นเอง การเดินหน้าทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ก็เป็นเรื่องของสภาฯ

เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพอีก คือ สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องการยกเว้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันครอบครัว ตราขึ้นมาโดยมีเหตุที่ไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 วรรคแรก ไม่ได้มีเหตุเรื่องความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ แต่กลับมีการตราพระราชกำหนดขึ้นมา หากเรื่องเข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชกำหนดฉบับนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามเหตุ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งกลับมาที่สภาฯ เพื่อให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบอีกรอบหนึ่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญก็จะทำหน้าที่วินิจฉัยไป ส่วนสภาฯ ก็มีอำนาจในการที่จะ "รับหรือไม่รับ" พระราชกำหนดอยู่ดี นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นายปิยบุตรชี้

นายปิยบุตรสรุปว่า ดังนั้น เวลาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่าคิดว่า "ตัดสินแล้ว" สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำอะไรได้เลย "ไม่จริงนะครับ" ส่วนที่มีสมาชิกอ่านมานั้น ส่วนนั้นเขาเรียกว่าเป็นประกอบความเห็นเท่านั้นครับ ไม่ใช่เนื้อของคำสั่ง ไม่ใช่เนื้อของคำวินิจฉัย ไม่ได้ผูกพันกับสภาฯ เป็นแค่ความเห็นประกอบเท่านั้น 

ประยุทธ์-ถวายสัตย์.jpg

การถวายสัตย์ปฎิญาณคือ การยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร เริ่มอภิปรายเรื่องปมถวายสัตย์ปฏิญาณ เขาอธิบายว่า การถวายสัตย์ปฎิญาณ คือ "การยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ" การถวายสัตย์ปฏิญาณของ ส.ส. รัฐมนตรี ศาล หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะมีถ้อยคำที่เหมือนกันทั้งหมด คือ "ทั้งจะรักษาไว้และปฎิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้อยคำนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปฎิญาณ" เพราะเป็นการยืนยันว่า บุคคลที่มีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญจะอยู่ภายใต้ เคารพ รักษา และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด

เขายังอธิบายต่ออีกว่า การถวายสัตย์ปฎิญาณของคณะรัฐมนตรี คือ การให้คำสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชน การที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฎิญาณนั้นมีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 ต่อจากนั้นรัฐธรรมนูญก็เขียนล้อต่อๆ กันมา นายปิยบุตรอ้างถึง 'หลวงประกอบ นิติสาร' ซึ่งได้ให้เหตุผลที่ต้องบัญญัติถ้อยคำเอาไว้อยู่ 3 ข้อ คือ

หนึ่ง หากไม่เขียนถ้อยคำลงไปให้ชัดคำถ้อยสัตย์ปฏิญาณจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาส่วนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอ

สอง ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญก็ญัตติถ้อยคำให้ถวายสัยต์ปฏิญาณไว้เช่นเดียวกัน

สาม เพื่อให้ผู้ที่จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณรู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองจะให้คำสัตย์ฯ ว่าอะไร และตัวเองมีปัญญาที่จะทำตามได้ไหม ถ้ารู้ตัวว่าทำไม่ได้อย่ามาเป็น ถ้าอ่านแล้วรู้ล่วงหน้าว่า ชีวิตนี้เคารพรัฐธรรมนูญไม่ได้ ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ รู้ว่าอีกไม่กี่เดือนจะฉีกรัฐธรรมนูญอีก หรือจะละเมิดรัฐธรรมนูญอีก อย่างนี้อย่ามาเป็นรัฐมนตรี จะได้ไม่ต้องถวายสัตย์ฯ

ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวว่า ถ้อยคำปฏิญาณที่เป็นหัวใจสำคัญมีอยู่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ สอง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน สาม รักษาไว้และปฎิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ การปฏิญาณตนมีความเกี่ยวข้องกับการให้คำสัตย์สัญญาต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชน เพราะระบบรัฐธรรมนูญไทย ที่เขียนไว้ใน มาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย (บางฉบับใช้มาจาก) พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” บทบัญญัตินี้เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ เกือบทุกฉบับ เพื่อยืนยันว่า ปวงชนชาวไทยคือผู้ทรงอำนาจอธิปไตย คือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พระมหากษัติรย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐคือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ

เขาอธิบายต่อว่า นี่คือ "ศิลปะการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผสมผสานเอาสองหน่วยองค์กรสำคัญที่สุดในราชอาณาจักรไทย" คือ 'พระมหากษัตริย์' ที่เป็นประมุขแห่งรัฐ และ 'ประชาชน' เข้ามาไว้ด้วยกันอยู่ใน มาตรา 3 โดยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ก่อรูปมาตั้งแต่ ปี 2475 กลายเป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ก่อร่างสร้างตัวกันเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนเรายืนยันกันเสมอว่า ในราชอาณาจักรไทยปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ การถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อจะเป็นการให้คำมั่นสัญญา ต่อผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน และยังให้คำมั่นสัญญาสืบทอดต่อเนื่องไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย นี่คือที่มาที่ไปของการเขียนให้คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ปิยบุตร กล่าว

วิษณุ เครืองาม

ยกงานเขียนวิษณุ - เปรียบดั่งอาจารย์ แนะลงเรือแป๊ะ

"...พูดไปอาจจะไม่เชื่อถือ" นายปิยบุตรยกตัวอย่างจากหนังสือ 'หลังม่านการเมือง' ของ 'นายวิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งกำลังนั่งฟังการอภิปรายอยู่ในสภาแห่งนี้มาประกอบการอภิปราย โดยอ้างถึงหน้า 28 ของหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งนายวิษณุเขียนไว้ว่า "ส่วนการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของการเปล่งวาจา กล่าวคำพูดแสดงความตั้งใจ ถ้าว่าตามธรรมชาติแล้วควรเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจ ใครจะพูดอะไรก็น่าจะได้ แต่ถ้ายอมให้ทำอย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องสับสัน บางคนเป็นนักสาบานตัวยงอาจปฏิญาณแคล่วคล่องว่องไว บางคนอาจเหนียมอายระมัดระวังปากคำ ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้ว่าตามหลักธรรมชาติไม่ได้ ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ โดยกำหนดถ้อยคำเป็นระเบียบแบบแผนเข้าไว้ ใครจะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้ เว้นแต่ปฏิญาณจบแล้วจะขมุบขมิบปากอธิฐานอะไรต่อในใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ในหน้า 31 ยังเขียนว่า "การปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ นอกจากเป็นการ เปล่งวาจาแสดงความตั้งใจจะปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว ที่สำคัญคือ ต้องการให้เป็นนิมิตหมายว่า กำลังจะเข้ารับหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าไม่กำหนดเอาการปฏิญาณเป็นนิมิตหมายแล้วยากจะรู้ว่า ตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่เก่าผลัดเปลี่ยนสู่คนใหม่ตั้งแต่นาทีใด" ปิยบุตรว่านายวิษณุยังเขียนไว้ชัดในหน้า 324 ว่าจะเกิดผล 2 ประการ หนึ่ง เมื่อรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อเปล่งวาจาถวายสัตย์ฯ แล้ว ก็จะทำให้ผู้ร่วมพิธีเกิดกำลังใจ สองเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบกับผู้ที่จะเป็นคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ นายปิยบุตร อ้างต่อในหนังสือดังกล่าวของนายวิษณุที่เคยเตือนไว้ว่า (หน้า 50-51) "ในระหว่างการเปล่งวาจาถวายสัตย์ปฎิญาณช่างโทรทัศน์จะบันทึกภาพอยู่ด้วยทุกระยะ รัฐมนตรีแต่ละคนจึงควรระมัดระวังโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศให้มาก เคยมีคนเขียนมาฟ้องว่า ได้ดูโทรทัศน์ภาคข่าวช่วงการถวายสัตย์ปฏิญาณ มองเห็นถนัดว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งไม่กล่าวอะไรเลย อีกคนทำปากขมุบขมิบไม่ทันเพื่อน แสดงว่า รัฐมนตรีเหล่านั้นยังไม่ถวายสัตย์ปฎิญาณจึงไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้ ใช่หรือไม่ เรื่องอย่างนี้ต่อไปภายหน้ารัฐมนตรี ผมว่าต้องระวังให้มากขึ้นแล้วละครับ เพราะดีไม่ดีเดี๋ยวจะต้องเปิดเทปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทีนี้ละจะยุ่งกันใหญ่" เมื่ออ่านจบ นายปิยบุตรก็กล่าวขึ้นว่า

"ผมก็ไม่แน่ใจว่ารองนายกรัฐมนตรี(นายวิษณุ) สะกิดเตือนท่านนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประยุทธ์)หรือไม่ ว่าควรจะต้องกล่าวให้ครบ เพราะดีไม่ดีเดี๋ยวจะต้องส่งเทปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่"

นายปิยบุตรยังฝากถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อย่างตรงไปตรงมาว่า “ถ้าหากท่านยังมีพฤติกรรมไม่แยแสรัฐธรรมนูญอยู่แบบนี้ วันดีคืนดีท่านก็จะทำตนขึ้นมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญเสียเอง ในทางปรัชญาการเมือง เราบอกกันว่า มันมีตำแหน่งหนึ่งซึ่งเราเรียกว่าองค์อธิปัตย์ ท่านก็เคยเป็นมาแล้วรัฐฏาธิปัตย์...องค์อธิปัตย์ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญในปรัชญาการเมืองคืออะไรครับ คือคนที่บอกได้ว่า อะไรคือข้อยกเว้น ณ วันนี้ ตัวท่านนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี มักจะมีเหตุผลอธิบายให้พวกท่านได้เป็นข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญได้เสมอ ขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแต่พวกท่านยกเว้นได้เสมอ"

"ถ้าไปอ่านสื่อ หรือโซเชียลมีเดียบ้าง เขาตั้งฉายาให้ใหม่แล้วว่าเป็น บิดาแห่งข้อยกเว้น"
ปิยบุตร-หลังม่านการเมือง รัฐสภา ถวายสัตย์

นายปิยบุตร ยังคงยกข้อเขียนของนายวิษณุมาอภิปรายในสภาต่อว่่า หัวข้อสุดท้ายในหนังสือซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจ 3 ประการในระบอบประชาธิปไตย มีสาระสำคัญ คือ ในระบอบประธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์มีอำนาจตามนิติประเพณีอยู่ 3 ประการ ในหน้า 372 นายวิษณุสรุปไว้ว่า มีพระราชอำนาจที่จะทรงได้รับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล มีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานกำลังใจให้กับรัฐบาล มีพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือนรัฐบาล นี่คือหลักการที่รัฐบาลทุกชุดจำเป็นที่จะต้องยึดถือ

“ผมขอเรียกร้องให้อาจารย์วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นอาจารย์ในทางตำราของผม เพราะอ่านหนังสือท่านเกือบทุกเล่ม นวนิยายท่านผมก็อ่าน กำลังรอเล่มใหม่อยู่คือลงเรือแป๊ะ นี่โฆษณาให้ท่านเลย ผมอยากให้ท่านกลับมาเป็นอาจารย์วิษณุคนเดิม ยุติการให้ความเห็น การช่วยเหลือในทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรี ให้ท่านกลับมาเป็นปูชนียบุคคลในวงการนิติศาสตร์ ท่านออกจากเรือแป๊ะเถอะครับ ท่านออกมาอยู่ในเรือของความยุติธรรม"

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ นายปิยบุตรยืนยันว่า "ผมไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ คนเก่า และ พล.อ.ประยุทธ์ คนใหม่ และผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

นายปิยบุตรให้ข้อเสนอแนะซึ่งเป็นสิ่งที่ตนพูดผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรขอพระบรมราชานุญาตเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่อีกครั้ง ส่วนการกระทำของรัฐบาลให้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมารับรองการกระทำเหล่านี้หลังจากที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะทำ ปล่อยเวลาผ่านเลยมาจนถึงวันนี้...ปิยบุตรชี้ว่า "นี่เป็นการจงใจละเมิดละเมิดรัฐธรรมนูญ"