นายนคร มาฉิม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การไม่แสดงความรับผิดชอบของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี กรณีนำ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน รัฐบาลจะต้องไม่เข้าบริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นรัฐบาลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญรับรองความสมบูรณ์ให้พลเอกประยุทธ์ ก็ย่อมกระทบกระเทือน ระคายเคืองต่อพระราชอำนาจ ต่อพระบรมราชานุภาพหากไม่รับรองก็อยู่ในฐานะรัฐบาลเถื่อน การบริหารราชการแผ่นดินก็จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ความเสียหาย ความผิดทั้งของพลเอกประยุทธ์ ของคณะรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการที่ปฎิบัติตามคำสั่ง จะไม่ชอบด้วยกฏหมาย เป็นรัฐบาลเถื่อน คำสั่งเถื่อน เกิดความเสียหายในวงกว้าง ต่อราชการและประชาชนทั่วไปอย่างไม่อาจประเมินได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพลเอกประยุทธ์ได้ประกาศ ว่า ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและขอโทษรัฐมนตรี แต่ไม่เคยขอโทษต่อประชาชนใกล้จะครบหนึ่งเดือนแล้วยังเพิกเฉย ไม่แสดงความรับผิดชอบ มีพฤติกรรมไม่สะทกสะท้าน ไม่ดำเนินการใดๆ ที่ควรจะต้องทำ ตามคำแนะนำจากหลายฝ่ายที่ปรารถนาดีเช่นให้ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ลาออก ก็ไม่ฟัง ไม่ยอมรับ ไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อน บ้านเมืองจะเสียหายอย่างไร แสดงตัวตนลุอำนาจ จนเคยตัว ทำตัวใหญ่กว่าทุกสถาบัน ไม่ต่างไปจากสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า "ตักน้ำรดหัวตอ" คนตักน้ำก็จะเหนื่อยเปล่า
นายนคร กล่าวต่อไปว่า การกล่าวถวายสัตย์ฯ ที่มีเจตนาเบี่ยงเบนไปจากถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ การกระทำของพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี ได้สร้างความระคายเคืองต่อพระมหากษัตริย์ ต่อพระเกียรติยศ และพระบรมเดชานุภาพขององค์พระมุข อย่างไม่น่าให้อภัย เป็นประเด็นที่คนในสังคมพูดถึงกันทุกวันทุกหนทุกแห่ง เกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน ซึ่งประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มีความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก
"ความจริงนายกและคณะรัฐมนตรี ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ งดการใช้เงินงบประมาณ ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ไม่ประชุมครม. แต่นี่ยังเพลินอยู่กับการใช้อำนาจ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน บอกว่าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ไม่เห็นรับผิดชอบอะไรเลย อย่าลืมว่าการเป็นนายกฯ ขณะนี้ไม่เหมือนกับยุคที่มีอำนาจล้นฟ้าของคณะเผด็จการ คสช.ที่มีอำนาจมาตรา 44 อำนาจพิเศษคอยคุ้มกัน ขอบอกพลเอกประยุทธ์ว่า ในฐานะเป็นไพร่ฟ้าข้าฯแผ่นดิน อย่าได้กระทำการใดๆในสิ่งที่ไม่บังควรต่อเบื้องสูง"นายนครกล่าว
นายนคร กล่าวอีกว่ากรณีนายประพันธ์ คูณมี อดีตแกนนำพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ข่าวปกป้องพลเอกประยุทธ์มิใช่เรื่องน่าแปลก เพราะนายประพันธ์มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ส.ว.สำรอง
อย่างไรก็ตาม นายประพันธ์ หรือใครก็ตาม ที่ออกมาพูดสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ฯ โดยชอบ ขอจงตรองให้รอบคอบและอย่ามองข้ามความเป็นสถาบันเบื้องสูงผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะและความจงรักภักดีของประชาชน ต่อสถาบัน จะถูกผู้ใดละเมิดมิได้ ขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม เงียบเสียงไปแล้วเพราะจนมุม แต่กลับมีลิ่วล้อบริวารออกมาส่งเสียงแทนในเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับในเหตุและผลได้ พวกลิ่วล้อบริวารที่นิยมชมชอบเผด็จการควรจะตระหนัก
ชี้ "ประยุทธ์" อ้าง "มีอำนาจเหนือ 3 อำนาจ"หนักไม่แพ้ กรณีถวายสัตย์ฯ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 26 ก.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามสมาชิกในเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี มีสาระสรุปว่า
"เรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผมอธิบายไม่รู้กี่รอบแล้ว ก็เอาอยู่นั่นแหละ
1. ในฐานะข้าราชการการเมือง ได้รับการยกเว้น ใช่ไหม (ถามรองฯ วิษณุ )
2. ในฐานะหัวหน้า คสช.อำนาจบริหาร คสช.อยู่เหนือกว่าทุก 3 อำนาจ อ่านกฎหมายเข้าใจไหม"
จากคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า "ในฐานะหัวหน้า คสช. อำนาจบริหาร คสช. อยู่เหนือกว่าทุก 3 อำนาจ นั้นคำกล่าวดังกล่าวส่อว่า "ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3" ที่บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เพราะในข้อเท็จจริง การตรวจสอบคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น อยู่ในห้วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ไม่อาจอ้างว่ามีอำนาจเหนือ 3 อำนาจอธิปไตย แต่อย่างใด
ประการสำคัญที่สุด การที่พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าตนมีอำนาจเหนือ 3 อำนาจอธิปไตยดังกล่าว เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
อนึ่ง หากข้อต่อสู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะยื่นคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะอ้างว่าหัวหน้า คสช.มีอำนาจบริหารเหนือ 3 อำนาจอธิปไตย นั้น เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับห้วงเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเห็นชัดเจนว่าอยู่ในห้วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงไม่อาจอ้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ได้ดังกล่าวข้างต้น
กรณีการอ้างตนเองว่ามีอำนาจเหนือ 3 อำนาจอธิปไตย จึงเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3
ส่วนกรณีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 161กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากผู้นำประเทศกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง จะมีความผิดหรือต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ซึ่งในชั้นนี้ ผมเห็นอยู่ 3 ประการ คือ
1. รับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องส่วนตน ไม่เกี่ยวกับสภาฯ หรือไม่มีข้อขัดแย้งกับสภาฯ
2. รับผิดชอบตามโบราณราชประเพณี ด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษ ในฐานะที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2
3. มีความผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ซึ่งข้อ 3 วรรคท้าย ให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และ ครม. และรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย
นายชวลิต กล่าวว่า หากสถานะของนายกรัฐมนตรี เป็นประเด็นส่อว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งกรณีการถวายสัตย์ฯ และกรณีกล่าวอ้างว่าตนมีอำนาจเหนือ 3 อำนาจอธิปไตย ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นเรื่องที่กระทบกับความเชื่อมั่นประเทศอย่างยิ่ง สมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงความรับผิดชอบตนเองให้เร็วที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :