เมื่อเวลา 22.17 น. วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานด้านรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทย โดยอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย นโยบายพรรคเพื่อไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน ยึดรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย โดยสอบถามประชามติเห็นสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยการแก้ไขไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ รวมทั้งหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง
ชูศักดิ์ ระบุว่า ถ้าเราดูรัฐบาลที่ได้แถลงในเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มีลักษณะขยายความ มีลักษณะปรึกษาหารือ มีการดำเนินการเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยความรอบคอบรัดกุม ตนเห็นว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลหลายพรรคการเมือง รัฐบาลผสม โดยประสบการณ์ตนที่เคยรับผิดชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราพูดได้ว่า รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขทั้งฉบับ เราเกือบทำสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี 2563 แม้ผ่านวาระที่ 2 แต่ร่างก็มาตกม้าตายในวาระที่3 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 การทำรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนผู้สถานปนารัฐธรรมนูญลงมติประชามติจะเห็นชอบทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เข้าใจว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นว่า ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน โดยที่ยังไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในกระบวนการนั้น แต่ตนยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงขณะนี้ ตนยังอุ่นใจ เพราะรัฐบาลยอมรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยเป็นนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย และการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยรัฐบาลจะหารือทุุกฝ่ายรวมถึงรัฐสภาในการทำประชามติ แปลว่ารัฐบาลนี้เห็นความสำคัญการทำประชามติในการเห็นชอบจากประชาชน รัฐบาลสัญญาจะหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญให้รอบคอบจากรัฐสภา โดยรัฐบาลมีความจริงใจให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ชูศักดิ์ ระบุว่า เรายังไม่ตกผลึกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายเรื่องด้วยกัน ที่ยังไม่ตกผลึกคือเรื่องแรกเรื่องจัดทำประชามติ แต่คำถามตามมาและเห็นแตกต่างกัน คือจัดจะทำประชามติกี่ครั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แน่นอนต้องแก้ไขมาตรา 256 และถ้าแก้ไขต้องทำประชามติ เมื่อทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติ
ชูศักดิ์ ระบุว่า ตนทราบว่าบางพรรคเสนอให้ทำประชามติ 4 ครั้ง ตนศึกษาแล้วต้องทำประชามติถึง 2-3 ครั้ง ที่ยังไม่ลงรอยอีกเรื่องคือ ส.ส.ร. พรรคเพื่อไทยเสนอให้มาจากการเลือกตั้ง แต่ครั้งก่อน มีพรรคการเมืองหลายพรรคควรจากการเลือกตั้งและสรรหา อีกส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิ อีกเรื่องที่ไม่ลงรอยกัน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือทำฉบับใหม่ โดยจะรวมทุกมาตราหรือไม่ เมื่อปี 2563 พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ยกเว้นแก้ไขหมวด1-2 และครั้งนี้จะไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ แต่แม้จะไม่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ เพราะการแก้ไขต้องคงรูปแบบการปกครองและจะเปลี่ยนรูปแบบของรัฐไม่ได้
ชูศักดิ์ ระบุว่า การจะแก้ไขทั้งฉบับทำไม ทำไมไม่แก้ไขเป็นรายประเด็นนั้น พรรคเพื่อไทยและหลายพรรคเสนอมาแก้ไขมา 5-6 ครั้งในเรื่องอำนาจ สว. แต่ไม่สำเร็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ยากมาก
“เข้าใจว่ารัฐบาลคงพยายามทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ รักษาสัญญากับประชาชน และหวังว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงจะมีแนวทางกำหนดไว้ว่าสมควรจะดำเนินการประการใด แต่เชื่อว่าคงมีความตั้งใจจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ชูศักดิ์ กล่าว
ภูมิธรรม ยัน ครม.นัดแรกประชุมเคาะประชามติแก้ รธน.
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า รายละเอียดการจัดทำรัฐธรรมนูญ ชูศักดิ์ได้ทำความเข้าใจแล้ว หากเราจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และไม่คิดให้รอบด้าน จะเป็นชนวนขัดแย้งอันใหม่ และเป็นปัญหาต่อประเทศชาติ ตนได้รับฟังความเห็นฝ่ายค้าน ก็ตั้งใจฟังอย่างดี เพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่ทำให้การทำงาน การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบคอบ ละเอียด ดูแลไม่ให้ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลของประชาชน เป็นรัฐบาล 11 พรรคเป็นเป้าหมายหนีออกจากความขัดแย้ง ความพยายามตั้งใจนี้ไม่ได้เป็นแบบที่ท่านได้กล่าวหารัฐบาล
ปัญหาความขัดแย้งในสังคมหลายเรื่องจะบานปลายไปหมด เราไม่ลืมว่ารัฐบาลได้พูดอะไรกับประชาชน เราจะใช้ความตั้งใจสุดกำลังให้รัฐธรรมนูญนี้ตอบสนองประชาชน รัฐบาลนี้จะแสดงเจตจำนงจะดำเนินการให้มีการประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที ในการประชุมครม.นัดแรกเรายืนยันสิ่งที่คิดและทำ เราไม่ได้คิดจะทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่เราสนใจที่จะทำกับสิ่งที่อยู่ความเป็นจริง มีประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ประชุม ครม.จะนำวาระจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การประชุม ครม.นัดแรกแน่
ภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่เราคิดคือมุ่งมั่นมีจุดมุ่งหมายชัดเจนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาข้อยุติทุกฝ่ายให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เราจะประกาศว่ารัฐบาลนี้ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุุข และจะไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพส้กการะของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ แต่จะทำรัฐธรรมนูญเอื้อต่อประชาชนเอื้อทุกฝ่ายเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญทุกส่วนแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ส่วนการประชุม ครม.นัดแรกจะมีการลงมติของ ครม.ที่จะแก้ไขในวาระแรกหรือไม่ ยืนยันเกิดขึ้นวาระแรกและให้เกิดความสำเร็จตามที่ประชาชนคาดหวัง
ภูมิธรรม ระบุด้วยว่า เรื่องผู้ว่าฯ ซีอีโอนั้น ตนอยากเชิญชวนมาร่วมกันมองลดความขัดแย้งแก้ปัญหาสังคม โดยเรื่องกระจายอำนาจนั้น รัฐบาลไทยรักไทยหรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราเป็นพรรคที่ประชาชนเชื่อมั่น ว่าเราทำมากกว่าพูด เราไม่อยากพูดมากแล้วทำไม่ได้ ตนเรียนให้มั่นใจได้ว่า เราพิสูจน์มาแล้วหลายเรื่องเราจะทำถ้าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การทำผู้ว่าฯซีอีโอ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินทำให้ดูแลพี่น้องประชาชนแก้ไขปัญหาประชาชนได้เป็นอย่างดี และสามารถทำควบคู่ได้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งแตกต่างจากบางพรรคที่คิดจะพิจารณาเลือกผู้ว่าฯ ทั้งหมดในประเทศ ตนอยากให้คิดตระหนักว่า หากลองทำอย่างนั้นแล้ว สังคมจะขยับขับเคลื่อนทางไหน แล้วใครจะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น
"เรายืนยันไม่มีกลับกลอก ไม่มีการพูดจาหลบเลี้ยวว่าจะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อมีความพร้อมทั้ง 76 จังหวัดเหมือนบางพรรคอยากเห็น หัวใจกระจายอำนาจคือจิตวิญญาณการกระจายอำนาจ ในอดีตพรรคไทยรักไทยเคยทำมา เช่นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านกระจายเงินในมือของรัฐลงไปที่ประชาชน ชุมชน หมู่บ้าน เมือง ชนบท" ภูมิธรรม กล่าว
ภูมิธรรม ย้ำว่า "อยากให้มองอะไรเป็นบวก เห็นความตั้งใจทุกฝ่ายให้มีจดเริ่มต้นมากกว่าความแตกแยก สิ่งสำคัญ รัฐบาลเริ่มต้นที่โลกความเป็นจริง อยู่กับความเป็นจริง พัฒนาจุดบกพร่องให้มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลไม่ได้อยู่กับความฝันแล้วบรรลุได้ยากลำบากแม้มันจะสามารถประสบความสำเร็จบางส่วนบางด้าน"
จิรัฏฐ์' ชี้นโยบายรัฐบาล ไร้ปฏิรูปกองทัพโวยอดีต ผบ.ทร. ทิ้งอุจจาระ 'เรือดำน้ำเครื่องยนต์จีน' ไว้ให้รับ
ขณะที่ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ระบุว่า หลังเลือกตั้งคำแถลงนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาล เป็นเพียงสิ่งแรก สิ่งเดียว ที่ได้เห็นความจริงของรัฐบาลชุดนี้ คือตัวตน เจตจำนง และความตั้งใจของรัฐบาลอย่างแท้จริง จำนวน 14 หน้าว่าน้อยอยู่แล้ว เมื่อมองหาคำว่า ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ก็แทบจะไม่มี ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้พูดคำนี้มาก่อนที่พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลจะพูดด้วยซ้ำ พรรคก้าวไกลเลือกตั้งชนะแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยเลือกตั้งชนะแต่โดนทหารยึดอำนาจ กลับมาเลือกตั้งอีกรอบหนึ่งก็โดนยึดอีกรอบ สองรอบติดเลย เราจึงคิดว่าท่านจะเป็นแกนนำในการปฏิรูปกองทัพ เป็นหัวหอกที่จะแก้ไขปัญหาประเทศเรื่องนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในเอกสาร 7 แผ่น 14 หน้า ไม่มีคำว่าปฏิรูปกองทัพอยู่ในนี้เลย แม้แต่คำเดียว
จิรัฏฐ์ กล่าวถึงข้อความที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า 'ไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป แต่เป็นการพัฒนาร่วมกัน' ทำให้รู้สึกไม่มีความหวังใน 4 ปีนี้ เพราะคำว่าปฏิรูปและคำว่าพัฒนาร่วมกันเป็นคนละความหมาย ไม่สามารถใช้แทนกันได้ สิ่งที่ขัดใจที่สุดคือการให้ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านเป็นคนที่ส่วนตัวเคารพนับถือ เห็นท่านต้องรับบทบาทตรงนี้รู้สึกอเนจอนาถใจแทน และรู้สึกเสียใจเมื่อเห็นท่านสัมภาษณ์แล้วทำให้ไม่มีหวังจริงๆ
จิรัฏฐ์ กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุดที่สื่อเปิดเผยคือเรามีนายพลในประเทศไทยจำนวน 1,514 คน โดยสหรัฐอเมริกามีกำลังนายพลน้อยกว่าประเทศไทย 3 เท่า มีอยู่เพียง 650 คน หากนับแค่พลเอกเรามี 100 กว่าคน สหรัฐฯมีเพียง 40 คน เรามากกว่าเขา 2.5 เท่า โดยในปี 2559 โฆษกกระทรวงกลาโหมเคยบอกว่าจะลดจำนวนนายพลขณะนั้นที่มีอยู่ 768 คน เหลือ 384 คนในปี 2571 แต่ผ่านมา 7 ปี วันนี้ มีจำนวนนายพลประมาณ 1,000 คน จึงขอถามว่ามันลดหรือมันเพิ่ม
จิรัฐฏ์ ยังเปิดข้อมูล ‘Army Land’ ระบุว่า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โหมประชาสัมพันธ์อย่างหนัก เป็นนโยบายของผบ.ทบ. ที่พัฒนามาจากสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพบก ไม่ได้อยู่ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการนำเอาที่ดินของกองทัพ ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้และทำมานานแล้ว ซึ่งงบประมาณในการปรับปรุง 200 กว่าที่นี้มาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
จิรัฏฐ์ ยังทวงถามเรื่องเรือดำน้ำว่าสรุปแล้วจะเอาอย่างไร เครื่องยนต์ของจีนไม่เคยมีใครใช้มาก่อน MTU ของเยอรมันเขาเลิกผลิตไปแล้วท่านไม่ต้องไปเจรจา สรุปแล้วจะเอาอย่างไร ตอนเราลงนามสั่งซื้อเรียบร้อย เยอรมันถูกจับได้ว่าแอบส่งขายให้จีน ก็เลยเลิกส่งให้จีนแล้วเราซวยใช่หรือไม่
“ที่กองทัพเรือสื่อสารกันมาเหมือนเราซวยอย่างนั้นแหละ ซึ่งความจริงไม่ใช่ บริษัทคนขายสิซวย ไม่ใช่เรา หมดสัญญาไปแล้ว 40 เดือนนะครับ ถ้าจะต่อสัญญาต้องเข้า ครม. ท่านสุทิน ท่านจะเป็นผู้ถือเอกสารฉบับนี้ไปให้ ครม. อนุมัติเพื่อแก้ไขสัญญาใช่ไหมครับ เพราะถ้าท่านอนุมัติแก้ไขสัญญา คนรับผิดชอบคือ ครม.ทันที ผบ.ทร.คนเก่าเขาทิ้งอุจจาระไว้ให้แล้ว ถ้าท่านอยากจะรับไว้ก็ตามที” จิรัฏฐ์ กล่าว
‘พริษฐ์’ ย้อนนายกฯ จุดยืนรธน.-กระจายอำนาจ เปลี่ยนไป ชี้อาการรัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเฉพาะต่อนโยบายทางการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เมื่อเปิดอ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลและวิเคราะห์ทั้งคำพูดที่อยู่ในเอกสารและที่ตกหล่นขาดหายไป จะเห็นได้ชัดถึงอาการที่ตนขอเรียกว่า “รัฐที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดูแล้วรัฐบาลคงจะไม่ยอมให้ประชาชนทั่วประเทศมีอำนาจขีดเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือรัฐราชการที่คงไม่ยอมให้เกิดการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่
พริษฐ์กล่าวว่าสำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยความจริงทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าประเทศนี้ควรต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - หากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 พวกเราทุกฝ่ายในรัฐสภาแห่งนี้ได้ร่วมกันลงมติกันอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเห็นชอบถึง 88% ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้ จึงไม่ควรเป็นอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่มีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
แต่หากนำเอานโยบายแก้รัฐธรรมนูญที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และ รมว.การคลัง และพรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้ อ้างอิงจากเอกสารที่พรรคเพื่อไทยส่งให้ กกต. ก่อนเลือกตั้ง มาเทียบกับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่ปรากฎอยู่ทั้งหมด 7 บรรทัด 94 คำ ในเอกสารคำแถลงนโยบาย จะเห็นได้ว่าจุดยืนและนโยบายของนายเศรษฐาและนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ต่างกันราวฟ้ากับเหวในอย่างน้อยใน 4 คำถาม คือ
1) รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐาแล้ว ท่านบอกแต่เพียงว่าจะ “หารือแนวทาง” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงต้องทวงถามนายกรัฐมนตรีตรงๆ ว่าจะยังสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธณรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือเมื่อท่านได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จุดยืนของท่านเลยเปลี่ยนแปลงไป
2) รัฐบาลจะให้ใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัยเป็นนายเศรษฐาท่านยืนยันชัดเจนว่าจะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาจัดทำ แต่พอมาช่วงหลังๆ ท่านกลับเริ่มเงียบต่อคำถามที่สังคมมีต่อรูปแบบของ สสร. ทำให้ตนเริ่มกังวลว่าท่านจะกลับลำจากรูปแบบ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาเป็นรูปแบบ สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง เพื่อเปิดช่องให้เครือข่ายอำนาจเดิมที่สนับสนุนรัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนหน้า เข้ามาแทรกแซง ควบคุม และล็อกสเปก สสร. หรือไม่ ซึ่งก็จะนำไปสู่การล็อกสเปกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้ากว่าหรือแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย
และเมื่อมาถึงวันนี้ ตนก็เริ่มกังวลมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีการเขียนคำว่า “ส.ส.ร.” ให้ปรากฎแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้น ตนจึงต้องทวงถามว่าตกลงนายกรัฐมนตรีจะยังให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่หรือไม่ หรือจะปล่อยให้อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตกเป็นของรัฐสภาแห่งนี้ ที่หนึ่งในสามประกอบไปด้วย สว. จากการแต่งตั้ง ที่มีผลงานในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทุกครั้งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
3) รัฐบาลจะล็อกเนื้อหาอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัยเป็นนายเศรษฐา ท่านพร้อมจะให้เกียรติประชาชนและเปิดกว้างต่อทุกความฝัน ด้วยการให้อำนาจ สสร. ไปถกเถียงและพิจารณาเนื้อหาใหม่ทั้งฉบับ โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวที่ล็อกไว้ คือรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแม้ท่านไม่เขียนไว้ ก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วตามมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ 2560
แต่พอมาเป็นนายกฯ เศรษฐา ท่านกลับไปเพิ่มเงื่อนไข จากเดิมที่ท่านล็อกแค่เรื่องรูปแบบการปกครอง ตอนนี้ท่านล็อกให้ไม่มีการแก้อะไรสักคำในหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์)
วันนี้เราคงไม่มีเวลาถกกันในรายละเอียดว่า 19 มาตราในหมวดพระมหากษัตริย์ มีส่วนไหนบ้างที่อาจปรับปรุงให้ดีขึ้นได้โดยไม่กระทบรูปแบบการปกครอง แต่ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีกำลังกังวลเกินเหตุ เพราะการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เท่ากับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง และทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งในปี 2540, 2550 และ 2560 เนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ก็ถูกปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด
แต่สิ่งที่อันตรายกว่านั้น คือความกังวลเกินเหตุของนายกรัฐมนตรี อาจหวนกลับมามากระทบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสียเอง เพราะหากมีประชาชนอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่กระทบรูปแบบการปกครอง การล็อกไม่ให้แม้แต่จะพูดถึงได้ด้วยเหตุและผล ในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง ส.ส.ร. อาจจะยิ่งทำให้คำถามในใจของเขาดังขึ้น ว่าตกลงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของใคร
หรือหากวันหนึ่งในระหว่างที่ ส.ส.ร. กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คนที่อยากแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 กลับไม่ใช่ประชาชนทั่วไป นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไร จะยืนยันอย่างแข็งขันกลับไปกับบุคคลท่านนั้นว่าแก้ไขไม่ได้ หรือจะยอมทำตามความประสงค์ของบุคคลดังกล่าว โดยอาศัยกระบวนการนอกรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากผ่านประชามติปี 2559 ไปแล้ว จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงทุกวันนี้
4) รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร สมัยเป็นเศรษฐา พรรคเพื่อไทยเคยแถลงไว้อย่างชัดเจน ว่าในการประชุม ครม. นัดแรก จะมีการออกมติให้มีการเดินหน้าจัดทำประชามติ เพื่อนับหนึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐา แม้จะบอกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ในเอกสารกลับไม่มีความชัดเจนว่าท่านจะดำเนินการอย่างไร นอกจากข้อความว่าท่านจะ “หารือแนวทางในการทำประชามติ”
“ท่านยืนยันได้ไหมครับ ในการประชุม ครม. นัดแรกที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันพรุ่งนี้ (13 กย.) พวกท่านจะมีมติออกมาเพื่อให้เดินหน้าในการจัดทำประชามติ และนับหนึ่งสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และท่านยืนยันได้ไหมว่าคำถามที่ท่านจะใช้ในประชามติ จะเป็นคำถามที่ยืนยันหลักการเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์ ยังกล่าวต่อไป ว่าหากกล่าวโดยสรุปเรื่องนโยบายรัฐธรรมนูญ ในขณะที่นโยบายของเศรษฐา ทั้งชัดเจนและตรงจุด แต่นโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐากลับหาความชัดเจนไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว แต่ในเมื่อท่านไม่ลุกขึ้นมายืนยันจุดยืนเดิมที่ เศรษฐาเคยประกาศไว้ ตนก็ขออนุญาตไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะนำพาเราไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้
ไม่น่าเชื่อว่าการเติม “ก.ไก่” แค่ตัวเดียวจาก “นายเศรษฐา” เป็น “นายกฯเศรษฐา” จะทำให้จุดยืนท่านเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ซึ่งสำหรับตนแล้ว “ก.” ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ย่อมาจากคำว่า “กลัว” และ คำว่า “เกรงใจ” ที่อธิบายถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อพรรคร่วมและเครือข่ายที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จนไม่กล้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนตามที่เคยได้ให้สัจจะไว้