ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ เอกฉันท์รับหลักการ 443 เสียง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ

วันที่ 17 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ครั้งที่ 8 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ. ที่มีหลักการในทำนองเดียวกันทั้ง 7 ฉบับ โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานในการประชุม

หลังจากสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว ประธานในที่ประชุมได้กดออดเรียกสมาชิกเข้ามาแสดงตนเพื่อลงมติ โดยผลการลงมติ เห็นด้วย 443 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการแห่ง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ. ที่มีหลักการในทำนองเดียวกันทั้ง 7 ฉบับ

มติ 443 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 งดออกเสียง 1

ต่อมาที่ประชุมได้เสนอคณะกรรมาธิการ จำนวน 39 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 คน, ผู้แทนประชาชน 13 คน และกรรมาธิการแต่ละพรรค 20 คน โดยกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 7 ฉบับ ที่ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย 

1) ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2) ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ซึ่ง คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,251 คน เป็นผู้เสนอ

3) ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล และคณะเป็นผู้เสนอ

4) ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่ง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ

5) ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่ง ตรีนุช เทียนทอง และคณะ เป็นผู้เสนอ

6) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ซึ่ง ร่มธรรม ขำนุรักษ์ และคณะ เป็นผู้เสนอ

และ 7) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่ง ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร และคณะ เป็นผู้เสนอ