ไม่พบผลการค้นหา
สภาเห็นชอบ 'เพื่อไทย' เสนอเลื่อนญัตติให้ตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.) 'ก้าวไกล' ไม่ขัดชี้ทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่พูดคุยหาฉันทามติ

วันที่ 31 ม.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม หลังวาระหารือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย เสนอขอเปลี่ยนวาระการประชุมให้นำญัตติว่าด้วยการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ขัตติยา สวัสดิผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาต่อจากกระทู้ทั่วไปในวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.)

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เข้าใจว่าการเปลี่ยนระเบียบวาระ สามารถทำได้ แต่อยากเข้าใจถึงเหตุผล และมีความจำเป็นประการใด

ศรัณย์ ระบุว่า เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากในขณะนี้ มีการพูดคุยเรื่องนี้ ทั้งในและนอกสภา และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ฝ่ายกำลังคุยกัน ก็มีความเห็นที่แตกต่าง ทุกฝ่ายที่เห็นว่าควรจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ยังมีความสามารถที่แตกต่างกันในหลายประเด็น 

"เพราะฉะนั้น ทางรัฐบาลโดยเฉพาะผู้เสนอญัตติเอง จึงมองว่า ควรใช้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่การในการพูดคุย อย่างน้อยๆ ให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ที่ต้องการจะเสนอกฎหมายได้มีพื้นที่ในการพูดคุยกัน ตะได้ทำให้เราสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ ถ้าทุกฝ่ายสามารถหาจุดร่วมกันได้ และจุดไหนที่ยังมีความแตกต่างหรือเห็นไม่ตรงกัน จะได้สามารถพูดคุยกันได้"

ศรัณย์ ระบุด้วยว่า ในขณะนี้ ทุกคนที่ต้องการจะเสนอร่างกฎหมายนั้น ก็จะเสนอแนวคิดของตัวเอง แต่อาจไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ในการนำร่างของตัวเองมาประกอบ และเปรียบเทียบกับภาคอื่น เพราะฉะนั้นจึงมองว่าการตั้ง กมธ.วิสามัญจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ เดินหน้าไปสู่สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องการได้

ด้าน ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ ศรัณย์ ได้พูดนั้น สิ่งสำคัญคือฉันทามติหรือความเห็นร่วมกันของสังคม ว่า ผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะคิดเห็นแบบใด ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีอยู่จริง ถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องทบทวนการทำกฎหมายที่พูดถึงเรื่องการทำนิรโทษกรรม

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากระเบียบวาระ พบว่า อาจมีเรืืองใกล้เคียงกันอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นำเสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน และคณะ 2) ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกัน และ 3) ในเดือน ก.พ.ร่างกฎหมายของภาคประชาชน จะมีการพิจารณานำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมภาคประชาชนเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ในทางกฎหมายเวทีสภาซึ่งจะเป็นเวทีที่มีการพูดคุยกัน ตนเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมที่จะมีการพูดคุย และเชื่อว่าในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การออกกฏหมายนิรโทษกรรม แต่เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นหากมีการเลื่อนญัตติ ตนก็เชื่อมั่นว่า สภาแห่งนี้น่าจะรับหลักการและนำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญ

“แน่นอนว่า คนที่อยู่ในคุก คนที่อยู่ในเรือนจำ คนที่อยู่ในการถูกดำเนินคดี ครอบครัวเขา คนรอบตัวเขา ล้วนได้รับผลกระทบอย่างยิ่งที่ไม่อาจรอได้ ฉะนั้น ถ้าเราจะเร่งให้มีการดำเนินการ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาญัตติ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่สังคมที่กลับคืนสู่ระบบปกติ พวกผมคิดว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนญัตติ และเห็นตรงกันว่าหากมีการเลื่อนเร็ว จะมีการพิจารณาอย่างเร็ว และนำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญ ขอให้เปิดพื้นที่ที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย“ ณัฐวุฒิ ระบุ

เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดเห็นค้าน ที่ประชุมสภาจึงเห็นชอบให้มีการเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันพรุ่งนี้ หลังวาระการตอบกระทู้ถามแล้วเสร็จ