ภาพก่อนสิ้นอิสรภาพของ ‘แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์’ และ ‘ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ สองนักกิจกรรม บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้ประกาศถอนประกันตัวเอง
ก่อนเดิมพันชีวิตด้วยการยกระดับอดข้าวอดน้ำ ระหว่างถูกจองจำในทัณฑสถานหญิงกลาง หลังข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ไม่บรรลุผลตามที่ปรารถนา ซึ่งประกอบด้วย 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ยุติดำเนินคดีกับประชาชนที่เห็นต่าง 3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้อง ยกเลิก ม.112- ม.116
“จริงๆแล้วพ่อแม่ไม่ได้ต้องการให้แบมประสบความสำเร็จ หรือต้องการเห็นลูกเป็นคนใหญ่คนโต ครอบครัวของเราต้องการแค่มีความสุข อยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ได้กินข้าวอร่อยๆด้วยกัน แล้วพ่อแม่เลี้ยงแบมมาอย่างดีมากๆ และแบมเติบโตมาอย่างดีมาก อยากให้พ่อแม่เชื่อในตัวแบม แบมอยากบอกว่าสิ่งที่ทำ แบมไม่ได้ทำผิด และแบมคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ขอให้ทุกคนเชื่อในตัวแบมโดยเฉพาะพ่อแม่”
คำอำลาปนเสียงสั่นเครือของแบม ถูกเผยแพร่เป็นคลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กชื่อ ‘วางหนังสือ ถืออาวุธ’ ต่อมาคืนของวันที่ 18 ม.ค. 2566 คลิปวีดีโอการยกระดับอดข้าวอดน้ำได้ถูกเผยแพร่ขึ้น เมื่อสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ถูกตอบสนอง
“เราไม่มีวันจะยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนของเราทุกคนจะได้ออกมาและข้อเรียกร้อง 3 ข้อเป็นไปตามผล เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้” สิ้นเสียงเจตจำนงของเธอทั้งสองพร้อมข้อความปิดท้าย ‘เลือดแลกเลือด’
‘วีรดา คงธนกุลโรจน์’ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่ากับ ‘วอยซ์’ ภายหลังเข้าเยี่ยมแบมและตะวัน พบว่าเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย หลังจากเริ่มอดน้ำอดอาหารเป็นเวลา 1 วัน แม้ทนายมีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้ทั้งสองนักกิจกรรมดื่มน้ำ แต่ทั้งคู่ยืนยันว่าจะทำตามที่ประกาศไว้ จนกว่าผู้ต้องขังคดีการเมืองได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวทุกคน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงของทนายความ คือการอดน้ำอดอาหารที่จะดำเนินไปถึงวันที่ 21-22 ม.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมเพื่อติดตามอาการของทั้งสองได้ จึงเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ เตรียมความพร้อมในการรับมือกรณีฉุกเฉิน
“กรณีที่แบมและตะวันประกาศอดอาหาร คาดว่ากรมราชทัณฑ์ก็รับรู้ เพราะข่าวถูกเผยแพร่ออกไป อยากให้กรมราชทัณฑ์มองเห็นความเป็นมนุษย์ แสดงท่าทีหรือเตรียมความพร้อมในการรับมือกรณีฉุกเฉิน จึงหวังว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทางทนายจะได้รับการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่”
ทนายสิทธิมนุยชน มองว่าแบมและตะวันไม่ควรถูกคุมขังเช่นนี้ เพราะสิ่งที่ทั้งสองแสดงออกคือสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ทางกระบวนการยุติธรรมต้องยึดถือหลักการให้มั่น อย่าหวาดหวั่นกับอำนาจบางอย่าง จนหลงลืมศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์
ชื่อของ ‘แบม-อรวรรณ’ อาจไม่คุ้นหูนักในสื่อข่าวนักเคลื่อนไหว แต่ในกลุ่มมวลชนเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะพบเจอเธอในมาดสตรีผมทอง ชูธงสีแดงร่วมขบวนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2563
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ‘แบม’ ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 2 คดี 1.คดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเห็นเรื่อง ‘ขบวนเสด็จ’ บริเวณห้างสยามพารากอน คดีอยู่ในชั้นศาลรอสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
2.คดีร่วมกิจกรรมของภาคีเซฟบางกลอย กรณีทวงถามความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-มาตรา 215-มาตรา 216 โดยคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
“ทำไมต้องโดน เราแค่ไปติดสติ๊กเกอร์ที่โพลสำรวจเอง”
แบมเล่าในงานเสวนา ‘เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย : การดำเนินคดีนักเคลื่อนไหว” เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2565 เมื่อเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนไป จากคดี ม.112 เธอถูกติดกำไล EM กลายเป็นคนว่างงาน เพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องหน้าอาย ดูไม่น่าเชื่อถือ ชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะโซ่ตรวนดิจิทัล แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ได้ลดทอนพลังการต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเลย