ไม่พบผลการค้นหา
'ตัวแทนสื่อมวลชน' ยื่นรายชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ หวั่นครอบงำสื่อขาดเสรีภาพ-มีผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุตั้งบอร์ดมีส่วนเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ ชี้ควรชะลอกระบวนการพิจารณา เปิดเวทีรับฟังความเห็นรอบด้าน

วันที่ 24 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา วศินี พบูประภาพ ตัวแทนสมาชิกสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) พร้อมด้วย อภิสิทธิ์ ฉวานันท์ ตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อ รวมถึง change.org ร่วมกันนำ 20,000 รายชื่อ ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

วศิณี ระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านคงามเห็นชอบจากกรมประชาสัมพันธ์ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ หรือเข้าใจในภูมิทัศน์ของสื่อ ซึ่งได้ขยายไปจนถึงโลกออนไลน์แล้ว ถือเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาด้วยคนจำนวนน้อย เพื่อมาครอบคนจำนวนมาก ภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จึงนำมาสู่ความกังวลว่า จะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกระบวนการคัดสรรผู้มาควบคุมสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด มีความซับซ้อน และถูกโยงกับหน่วยงานรัฐ เพื่อมากำกับสื่อ จึงอาจส่งผลประสบต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อได้ ทั้งนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาขับเคลื่อนสภาวิชาชีพสื่อดังกล่าว

"สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่"

โดยตัวแทนฯ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก พร้อมรายชื่อนักวิชาการสื่อ สื่อมวลชน เครือข่ายสื่อเสรี และภาคประชาชน จำนวนกว่า 2,000 รายชื่อ ที่ร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ โดยมี คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ ตัวแทนยังได้ยื่นหนังสือไปยังกรรมาธิการฯ เดียวกันของฝั่งวุฒิสภาด้วย

ด้านตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อ ย้ำข้อเรียกร้อง ขอให้ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่างออกไปก่อน และขอให้เปิดเวทีรับทราบความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป

ขณะที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ควรมีกฎหมายใดเลยมาครอบงำความเป็นเสรีในการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโปร่งใสไปสู่ประชาชน

ณัฐชา ยังมองว่า หากกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ จะมีปัญหาเรื่องนิยามของสื่อที่มีความกว้างขวางครอบคลุมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดต่อจำนวนมากกว่า Social Media ก็ยังถือรวมเป็นสื่อมวลชนด้วย และจะถูกควบคุมอยู่ภายใต้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน

โดยคณะกรรมาธิการฯ จะได้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในอนาคตต่อไป แล้วถึงแม้อายุของสภาชุดนี้จะเหลืออยู่อีกไม่นาน มีโอกาสที่กฎหมายดังกล่าวจะตกไป ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีชุดหน้าว่าจะนำกลับมาพิจารณาอีกหรือไม่ แต่คณะกรรมาธิการฯ จะจัดทำรายงานเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงให้คุณหมอฉบับนี้ผ่านการรับฟังและแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น