ไม่พบผลการค้นหา
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เปิดเผยแผนที่จะทำให้เฟซบุ๊กมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น หลังถูกวิจารณ์มาโดยตลอดเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะปฏิรูปเฟซบุ๊กให้เป็น "แพลตฟอร์มที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว" โดยเขาเชื่อว่าบริการส่งข้อความที่ป้องกันความเป็นส่วนตัวจะได้รับความนิยมมากกว่าแพลตฟอร์มเปิด โดยจะลดข้อมูลถาวรและป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลที่เก็บไว้

ซักเคอร์เบิร์กระบุว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมช่วยให้ติดต่อพูดคุยกันกับเพื่อน ชุมชน และคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน เปรียบเหมือนกับจัตุรัสกลางเมืองในโลกดิจิทัล แต่คนก็ต้องการติดต่อพูดคุยกับคนอื่นอย่างเป็นส่วนตัวมากขึ้น เปรียบเหมือนการนั่งคุยอยู่ในห้องนั่งเล่นบ้านตัวเอง มีคนเห็นข้อความของเราเฉพาะคนที่เราอยากให้เห็น และไม่ได้ค้างอยู่ในระบบตลอดกาล

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้้ใช้ โดยปี 2018 มีข่าวว่ามีการนำข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กถูกขายไปให้กับทีมงานโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ส่วนหนึ่งของแผนที่ซักเคอร์เบิร์กวางไว้คือ เฟซบุ๊กจะไม่เก็บข้อมูลละเอียดอ่อนในประเทศที่มีประวัติสิทธิมนุษยชนอ่อนแอ เช่น ละเมิดความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งหากใช้เกณฑ์นี้ เฟซบุ๊กอาจถูกบล็อกในบางประเทศ เช่น เวียดนามและรัสเซีย ที่ระบุให้เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลผู้ใช้ไว้ในประเทศของผู้ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กยอมแลก นอกจากนี้ ซักเคอร์เบิร์กยังกล่าวว่า การส่งข้อความเอ็นคริปต์ที่ป้องกันความปลอดภัยไว้จะครอบคลุมเครื่องมือทางธุรกิจอย่างการจ่ายเงินออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ซักเคอร์เบิร์กไม่ได้เปิดเผยกรอบเวลาที่ชัดเจนที่เขาวางไว้สำหรับแผนการทำให้เฟซบุ๊กเป็นส่วนตัวขึ้น บอกแต่เพียงว่าแผนนี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โซอี้ ไคลน์แมน ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีของบีบีซีกล่าวว่า ทิศทางใหม่ของเฟซบุ๊กอาจดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กจะหันมาฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า เฟซบุ๊กเลือกที่ใช้วิธีการไม่เก็บข้อมูลอาจเป็นเพียงวิธีการหลบเลี่ยงปัญหา หลังจากที่ถูกรัฐบาลของหลายประเทศกดดันว่าจะเข้าไปกำกับดูแลโซเชียลมีเดีย

ด้าน The Verge มองว่าบล็อกของซักเคอร์เบิร์กแสดงให้เห็นว่าคนโพสต์บนหน้านิวส์ฟีดกันน้อยลง ทำให้เฟซบุ๊กต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐจะหาข้อมูลการกระทำความผิดได้ยากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มก่อการร้ายใช้แอปฯ ส่งข้อความแบบใส่รหัสเอ็นคริปต์ แทนการใช้เฟซบุ๊ก แต่หากเฟซบุ๊กเอ็นคริสต์ข้อความก็จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐยากขึ้น ขณะเดียวกัน การติดตามเส้นทางการส่งข้อมูลผิดๆ และข่าวปลอมก็จะทำได้ยากขึ้นด้วย


ที่มา : BBC, The Verge