ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' นำทัพภาคประชาชน บุกกดดัน กสทช. ยื่นรายชื่อแสดงจุดยืน 'ประชาชนไม่อนุญาตให้ควบรวม จี้บอร์ด มองผลกระทบผู้บริโภค หยุดผูกขาดประเทศด้วยกลุ่มทุน

วันที่ 12 ต.ค. 2565 เวลา 08.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร, เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT และ สภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นรายชื่อแสดงจุดยืน “ประชาชนไม่อนุญาตให้ควบรวม” ต่อ กสทช. ก่อนจะมีการประชุมบอร์ดพิจารณาการควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค 

S__100กกก07968.jpg

ศิริกัญญา กล่าวว่า วันนี้ มาติดตามการประชุมบอร์ดของ กสทช. ในการพิจารณาควบรวม TRUE และ DTAC รวมทั้งมาสังเกตการณ์การทวงถามความคืบหน้าของการคัดค้านการควบรวมของสหภาพ NT ซึ่งมีหลายประเด็นที่ให้ความสนใจติดตาม โดยที่ผ่านมาแม้จะมีการยื่นหนังสือมาต่อเนื่องหลายเดือน แต่ยังไม่ได้รับความคิดเห็นใดตอบกลับมาจาก กสทช. ทั้งเรื่องผลกระทบของผู้บริโภค และรายงานวิจัยของจุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า กสทช. ไม่ได้มีอำนาจพิจารณาการอนุมัติการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ที่มาของที่ปรึกษาอิสระ แม้จะมีการอนุมัติไปแล้วว่าเป็น บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด แต่จากการตรวจสอบการถือหุ้น พบว่ามีเรื่องของการมีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ของผู้ถือหุ้นของ บริษัท ฟินันซ่าฯ ซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับบริษัทแม่ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วันนี้ตนและทางสหภาพฯ จึงเดินทางมาติดตามทวงถามความคืบหน้า เนื่องจากวันนี้จะเป็นวันที่มีวาระการพิจารณาควบรวมทรูและดีแทค จึงหวังว่า กสทช. จะยึดเอาผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ในการพิจารณา “ไม่อนุมัติ” ให้ทั้งสองบริษัทดังกล่าวควบรวมกัน 

IMG_0304.jpg

นราพล ปลายเนตร ประธานกลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT กล่าวว่า เราเดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะ NT ในฐานะองค์กรที่ดูแลระบบสื่อสารของภาครัฐ ก็จะได้รับผลกระทบ จากการควบรวมกันของทั้งสองบริษัท การแข่งขันจากเดิมที่มี 3 ราย เหลือ 2 รายใหญ่นั้น เรียกว่าการผูกขาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นนอกจาก NT ที่ไม่สามารถเรียกว่ารายที่ 3 ในตลาดเพราะสถานะภาพไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนรายใหญ่ได้เลยอยู่แล้ว ประเทศยังเสี่ยงต่อการถูกปิดตายในการพัฒนาจากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเกิดการผูกขาดจากกลุ่มทุนอีกด้วย จึงอยากให้ กสทช.พิจารณา “ไม่อนุมัติ”การควบรวมครั้งนี้เท่านั้น

ด้าน สำลี ศรีละพุก ตัวแทนภาคประชาชน สภาองค์กรของผู้บริโภค (ศูนย์สิทธิ์ผู้บริโภค เขตยานนาวา) กล่าวว่า วันนี้เดินทางมายื่นคัดค้านการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ในฐานะตัวแทนของประชาชน และผู้บริโภค ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เนื่องจากประชาชนจะต้องรับภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และขอย้ำเตือนกรรมการ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ใช้อำนาจโดยมิชอบในการบิดเบือนข้อกฎหมายว่า ท่านได้รับตำแหน่ง รายได้ และผลประโยชน์อื่นๆ จำนวนมหาศาลจากเงินของประชาชนผ่านผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากทรัพยากรที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หาใช่เงินของภาคเอกชนไม่ ฉะนั้น กสทช. จึงควรตระหนักในบุญคุณของสาธารณะ และทำงานตอบแทนประชาชนให้สมศักดิ์ศรี ชื่อเสียง และคุณงามความดีที่ท่านเคยสะสมมาในอดีตเมื่อประชาชน "ไม่อนุญาต" ให้เกิดการควบรวมตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว กรรมการท่านใด หรือเจ้าหน้าที่คนไหน ปฏิบัติการผิดไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน หรือบทในรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกร้องเรียนถึงขั้นศาลแน่นอน