หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง สั่งลงดาบ ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ให้พ้นการเมืองตลอดชีวิตด้วยคดีรุกป่า คำตัดสินดังกล่าวได้กลายเป็นบรรทัดฐานแรก ซึ่งรายต่อมาคือ ‘อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์’ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย
เมื่อ 6 ม.ค. 2566 ศาลฎีกาพิพากษาว่า อนุรักษ์ ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ด้วยความผิดฐาน ‘โทรศัพท์’
ที่มาของเรื่องนี้ต้องท้าวความยาว ตั้งแต่ปี 2564 ที่ อนุรักษ์ เป็นอนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 ขณะที่เวลานั้น ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ยังเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งได้แฉกลางที่ประชุมว่า มีอนุกรรมาธิการฯ คนหนึ่ง โทรฯ มาเรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการผ่านงบประมาณของกรมฯ ให้
ต่อมา ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวน โดยในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา อนุรักษ์ ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาด้วยตนเอง ก่อนศาลจะตัดสินลงโทษตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ใจความของคำพิพากษาคือ อนุรักษ์ ได้โทรศัพท์ไปกล่าวถ้อยคำข่มขู่กับ ศักดิ์ดา คือ “ถึงอนุฯ รับรองก็โดนตัดแน่” และ “สงสัยผ่านยาก” แม้ อนุรักษ์ จะคัดค้านว่า เพียงแต่โทรฯ ไปเพื่อขอให้ ศักดิ์ดา เตรียมแบบแปลนและประมาณราคามาให้ในการประชุมวันรุ่งขึ้น อีกทั้งคำพิพากษายังชี้ว่า ศักดิ์ดา ก็ไม่ได้บันทึกเสียงบทสนทนาดังกล่าวไว้ด้วย
แต่ศาลมองว่า การที่ อนุรักษ์ ซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการฯ โทรศัพธ์หาอธิบดีกรมฯ ด้วยตนเอง ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการซึ่งมีหน้าที่โดยตรงสามารถประสานงานให้ได้ทันที จึงเป็นพฤติการณ์ไม่สมเหตุผล และหากเอกสารที่หน่วยงานของบประมาณเตรียมมาไม่เพียงพอ อนุรักษ์ ก็สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการจัดเตรียมให้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องโทรศัพท์เพื่อติดตามเอกสารด้วยตนเอง
‘วอยซ์’ ได้รับเอกสารพิเศษ คือสำเนาคำแถลงปิดคดี ซึ่ง อนุรักษ์ ในฐานะผู้คัดค้าน ส่งถึงศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 เพื่อโต้แย้งแต่ละประเด็นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้กล่าวหา ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่มีเจตนาจะแก้ต่างแทน หรือยุ่งเหยิงกับรูปคดี โดยเฉพาะคดีทางอาญาที่ยังไม่พิพากษา เพียงแต่หวังให้ผู้อ่านได้พิจารณาข้อมูลที่ลึกซึ้งและครบถ้วน
ข้อกล่าวหาที่ 1: อนุรักษ์ ขอเงิน 5 ล้านบาทจาก ศักดิ์ดา ถ้าไม่ให้ จะตัดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ในการประชุมอนุกรรมาธิการ วันที่ 5 ส.ค. 2563 ศักดิ์ดา ถูกซักถามในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่ได้ส่งแบบแปลนมาให้ รวมถึงประเด็นที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเบิกเงินเอง ซึ่ง ศักดิ์ดา ตอบไม่ได้ ก่อนจะแสดงอาการโมโห ลุกออกจากที่ประชุม
ต่อมา ศักดิ์ดา กลับมาอีกครั้ง แล้วพูดว่า เมื่อคืนนี้ถูกกรรมาธิการโทรศัพท์ไปเรียกเงิน 5 ล้านบาท พร้อมแฉในที่ประชุมอนุกรรมาธิการว่า “คือท่าน (อนุรักษ์) ก็คุยกับผมหลายรอบ ผมอัดเทปไว้นะครับ” กล่าวคือ ศักดิ์ดา อ้างว่าได้บันทึกเสียงโทรฯ ที่ อนุรักษ์ เรียกรับเงินจากตนไว้
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ในขณะนั้น จึงกล่าวว่า แบบนี้ยอมไม่ได้ ต้องไปแถลงข่าว ระหว่างเดินออกจากห้องประชุมเพื่อไปแถลงข่าว ศรัณย์วุฒิ ถาม ศักดิ์ดา ว่ากรรมาธิการคนไหนที่เรียกเงิน ศักดิ์ดา ตอบว่า “ไม่มีใครเรียกหรอก พูดไปแบบนั้นแหละ โมโหมัน ถามมากเกินไป” และเมื่อ ศรัณย์วุฒิ ถามว่ามีคลิปไหม ก็บอกว่าไม่มี
ศรัณย์วุฒิ : “ก็เห็นเอ็งพูดกับ ส.ส.อนุรักษ์ ในที่ประชุมว่า เอ็งอัดเทปไว้หมด แปลว่าอะไร”
ศักดิ์ดา : “ก็ขู่ไปอย่างนั้นแหละ”
ศรัณย์วุฒิ : “แล้วจะไปแถลงอะไร เดี๋ยวก็ติดคุกหรอก”
ต่อมาเมื่อ 18 ส.ค. 2563 ศักดิ์ดา ไปให้การต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยกรรมาธิการซักว่า ใครคืออนุกรรมาธิการที่เรียกรับเงิน 5 ล้านบาท ศักดิ์ดา ตอบว่า “ถ้าผมบอกเบอร์โทรไปปุ๊บ หรือให้เทป เปิดเทปให้ฟัง ทุกคนรู้จักหมด”
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 30 พ.ย. 2563 ศักดิ์ดา กลับให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เรื่องที่อ้างว่ามีอนุกรรมาธิการเรียกตบทรัพย์นั้น ตนไม่ได้บันทึกเสียงไว้แต่อย่างใด อนุรักษ์ คัดค้านว่า การกล่าวถึงกรณีนี้แบบกลับไปกลับมา ไม่อยู่กับร่องกับรอย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ศักดิ์ดา เป็นคนที่เชื่อถืออะไรไม่ได้
(หมายเหตุ: ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ได้เปิดตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 4 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 2 ธ.ค. 2565)
ข้อกล่าวหาที่ 2: ไม่มีพยานอื่นได้ยินบทสนทนา
จากคำให้การของ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ เผยว่า 4 ส.ค. 2563 ที่คุยโทรศัพท์กับ อนุรักษ์ นั้น ศักดิ์ดา รับประทานอาหารอยู่ที่ห้อง VIP ร้านเบียร์หิมะ กับเพื่อนอีก 2 คน เมื่อ ศักดิ์ดา รับโทรศัพท์ อนุรักษ์ ได้แนะนำตัว แล้วบอกว่า “พรุ่งนี้ขอเงิน 5 ล้านบาท”
ศักดิ์ดา: “ทำไมตัดงบประมาณเยอะจัง”
อนุรักษ์: “ไม่ได้ตัดงบประมาณ แต่ขอเป็นเงินสด”
ศักดิ์ดา: “เงินเยอะขนาดนั้น จะไปหาจากที่ไหน”
บทสนทนาดังกล่าวใช้เวลาเพียง 30 วินาที และคุยกันในห้อง VIP ซึ่งแยกต่างหากจากห้องทั่วไป ไม่มีคนอื่นและเงียบ อนุรักษ์ ชี้แจงว่า หากตนเรียกเงินจาก ศักดิ์ดา 5 ล้านบาทจริง เพื่อนอีก 2 คนที่นั่งอยู่ด้วยย่อมได้ยินและจับใจความได้ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้เรียกบุคคลทั้ง 2 มาเป็นพยานแต่อย่างใด แสดงว่าทั้ง 2 คนนั้นไม่ได้ยิน ประจักษ์พยานเพียงคนเดียวก็คือ ศักดิ์ดา จึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานไม่พอฟัง เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีเงินของกลาง ไม่มีคลิปเสียง
ต้องย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นมาจากเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่เป็นการต่อสู้ของ อนุรักษ์ เท่านั้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ยังไม่ล่วงรู้ คือมีการเรียกสินบนกันจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีคลิปสนทนาและพยานยืนยัน ทำให้ชวนคิดต่อไป ภายใต้ข้อมูลที่จำกัดเช่นนี้ การพิพากษาว่า ‘ฝ่าฝืนจริยธรรม’ จนถึงขั้นตัดสิทธิใครคนหนึ่งจากการเมืองตลอดชีวิต เป็นโทษที่ได้สัดส่วนแล้วหรือไม่
และยังน่าจับตาต่อว่า ผลการพิจารณาคดีทางอาญาของ อนุรักษ์ ในคดีนี้ จะสามารถเอาผิดฐานเรียกรับสินบนได้หรือไม่ โดยไม่มีหลักฐานและพยาน
และหากผลพิพากษาทางอาญาชี้ว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วโทษตัดสินทางการเมืองที่ออกมาก่อนหน้า จะกลายเป็นว่าถูก ‘ประหารฟรี’ หรือไม่?
เท่าที่ปรากฏตอนนี้ ปารีณา และ อนุรักษ์ เป็นนักการเมืองไทย 2 คนล่าสุด ที่ต้องโทษตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมในลักษณะเดียวกันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 วรรคสี่ และ พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง ซึ่งมี ‘มาตรฐานทางจริยธรรม’ บังคับใช้ถึง ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย
สำหรับแนวทางปฏิบัติ บัญญัติไว้ว่า
สำหรับคดีของ อนุรักษ์ ที่โทรศัพท์หาผู้อื่นโดยไม่ใช่หน้าที่นั้น จะเข้าองค์ประกอบของแนวปฏิบัติข้อใด ขอให้ผู้อ่านลองเดาไปพร้อมกัน
ส่วนบทเรียนของเรื่องนี้ ยังสามารถหยิบยกข้อวิจารณ์ของ ปิยุบตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่า “กรณีของปารีณา (อนุรักษ์) คือความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 2560” เพราะยังมีนักการเมืองอีกหลายคน ที่อาจต้องโทษรุนแรงนี้ ไม่ว่าจะด้วยความพลั้งพลาดของตัวเขาเอง หรือด้วยความตั้งใจของใครคนอื่น
ปิยบุตร ตั้ง 3 ข้อสังเกตต่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่สร้างกลไกเข่นฆ่านักการเมือง คือ 1).มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองโดยองค์กร ซึ่งในที่นี้คือ ป.ป.ช. 2) การให้ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะให้ศาลวินิจฉัยเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย จึงผิดฝาผิดตัว และ 3) บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สูงเกินไป ซึ่ง ปิยบุตร วิจารณ์ว่า การประหารชีวิตทางการเมืองเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับเครื่องประหารกิโยตินในสมัยก่อน
“บทบัญญัติเข่นฆ่านักการเมืองแบบนี้เอง ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนำมาโฆษณาอวดอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ รัฐธรรมนูญ ‘ปราบโกง’ แต่เอาเข้าจริง มันไม่สามารถใช้ปราบโกงได้ อัตราการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศนี้ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง
ตรงกันข้าม บทลงโทษแบบนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือให้ใช้กลั่นแกล้งกันในทางการเมือง กลายเป็น ‘อาวุธ’ ให้ฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ นำมาใช้ก่อ ‘นิติสงคราม’ เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน” ปิยบุตร ได้แสดงทัศนะเอาไว้เช่นนี้