วันที่ 18 มีนาคม 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค เดินทางมายังสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ เพื่อรายงานตัวตามข้อกล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในกรณีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เมื่อต้นปี 2563 โดยมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล , พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ,พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรค , ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค , อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ,ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และทีมว่าที่ผู้สมัครส.ส. และ ส.ก. พรรคก้าวไกล เดินทางมาให้กำลังใจบริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนท์
รังสิมันต์ ระบุว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงถึง พลเอกประวิตร คดีของตนจะมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ล่าสุด คือการประเด็นการค้ามนุษย์ในการอภิปรายทั่วไป จึงทำให้มีความ ‘แปลกประหลาด’ เกิดขึ้นในคดีนี้ โดยมีความพยายามขอตัวตนเองไปดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุมสภา จึงได้โต้แย้งไปว่าการทำแบบนี้น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 โดยเป็นการเป็นการคุยกันด้วยวาจาซึ่งในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนบอกว่าจะไปถอนหมาย
“คุยกันเสร็จเรียบร้อย ก็มีการออกหมายเรียก ให้ไปคุยอีกครั้ง วันที่ 11 มีนาคม ซึ่งผมชี้แจงไปว่าไม่น่าจะไปได้ในวันนั้น ที่ 11 จึงขอนัดหมายใหม่โดยให้ทนายเป็นคนนัดหมายและตกลงกันด้วยวาจาว่าจะไปรายงานตัวภายในเดือนมีนาคมแน่นอน ไม่ได้จะบิดพลิ้วอะไร แต่สุดท้าย วันที่ 11 มีนาคม พนักงานสอบสวนไม่ยอม จึงมีการออกหมายจับออกมา" รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวลึกๆ เชื่อว่า ศาลไม่น่าจะให้ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษค่อนข้างต่ำ และการจะออกหมายจับได้ ต้องออกหมายเรียกอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าเอาตามหมายเรียกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตนได้รับแค่ครั้งเดียว แต่จู่ๆ ออกหมายจับเลย จึงค่อนข้างแปลกใจมากว่าทำไมกระบวนการของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไปขอหมายจับจากศาล และศาลให้
รังสิมันต์ ระบุอีกว่า คดีนี้เหมือนมีความพยายามในการดำเนินคดีและไม่ให้ประกันตัว หวังจะให้หลุดพ้นจากความเป็น ส.ส. และยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การออกหมายจับนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะตามเงื่อนไขการออกหมายจับ จะออกได้เมื่อถูกร้องในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี หรือมีหลักฐานควรเชื่อว่าจะหลบหนี ซึ่งคดีหมิ่นประมาทฯ โทษไม่ถึง 3 ปี และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนชัดว่ามีกระบวนการที่ต้องการทำให้ผู้แทนราษฎรกลัว คำถามก็คือ ประเทศนี้ ถ้าเอาความจริงขึ้นมาพูดกัน สุดท้าย ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ใช่หรือไม่ และประเทศนี้ จะอยู่กันอย่างไร
“ส่วนตัวผม ผมไม่ได้รู้สึกว่าต้องยึดติดอะไร ผมพร้อมสู้ ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน แต่ถ้าเราทำกันแบบนี้ ประเทศเราจะกลัวกันแบบนี้ ผมรู้มาโดยตลอดว่าหัวอกตำรวจชั้นผู้น้อย พวกท่านก็กลัว ท่านก็เจ็บปวด แต่ถ้าท่านกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ แล้วเล่นงานผมแบบนี้ ผมก็ไม่ยอม แล้วพรรคก้าวไกล เราก็ไม่ยอม พร้อมต่อสู้เต็มที่ วันนี้ เราเลยมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ต้องการหลบหนี การออกหมายจับเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และผมก็อยากทราบจริงๆ ว่าผู้พิพากษาที่เป็นคนเซ็น ที่อนุมัติหมายจับชื่ออะไร “
“เพราะผม ในฐานะของคนที่เรียนนิติศาสตร์ และมีรุ่นพี่หลายคนที่เรียนนิติศาสตร์ แล้วไปเป็นผู้พิพากษา เรานึกไม่ถึงว่ากระบวนการมันมาไกลได้ถึงขนาดนี้ได้อย่างไร ผมเองค่อนข้างผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมมากๆ จริงๆ ผมก็ยินดีที่จะสู้คดี และก็รู้สึกว่าการต่อสู้คดีครั้งนี้เราจะชนะ คำพูดที่เอาไปอ้างต่างๆ ก็ได้เห็นแล้วว่า วันนี้ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เป็นอย่างไร มีความสำคัญต่อการเมืองอย่างไร วันนี้ เวลาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริงหรือไม่จริง”
รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ กระบวนการหลายอย่างไม่ควรเรียกว่ากระบวนการยุติธรรม นี่คือกระบวนการอยุติธรรม ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้พวกเราไม่กล้าที่จะพูด ก่อนจะมาถึงตน มีพี่น้องประชาชนอีกมาก ที่ถูกรังแกก่อน พิสูจน์ให้เห็นว่าการเอาคนเห็นต่างไปจับ การตีกำไลอีเอ็มใส่ข้อเท้าพวกเขาแล้วบอกว่านี่คือการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิ่งที่ผิด มันเป็นไปได้อย่างไร เขาไปรายงานตัวทุกครั้ง อัยการก็ไป ศาลก็ไป ศาลบอกว่ากลัวที่จะหลบหนี ทั้งที่ประวัติดีมาโดยตลอด เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่ปกติของสังคมไทยในการเร่งรัดคดีอย่างผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้เเทนราษฎรที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย กรณีที่เกิดขึ้นกับ รังสิมันต์ โรม นั้นควรเป็นการแจ้งหมายเรียก ไม่ใช่เเจ้งหมายจับ เพราะ รังสิมันต์ โรม ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ไม่ได้หลบหนี ได้ทำหนังสือเเจ้งต่อเจ้าหน้าที่ไปเเล้วพร้อมลงวันที่ในการเข้าพบเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการเร่งรัดคดีอย่างผิดปกติ โดยพรรคก้าวไกลยืนยันว่า จะเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเข้มข้น ในฐานะผู้แทนราษฎรเคียงข้างประชาชน
“ สิ่งนี้คือความต้องการที่จะปิดปากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลต้องการทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลัว ไม่ให้กลไกประชาธิปไตยทำงาน การมีฝ่ายบริหาร ตุลาการ เเละนิติบัญญัติ ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลเป็นเรื่องจำเป็น อย่าให้เราต้องพูดเพียงในสิ่งที่เขาอนุญาตให้พูด แต่เราต้องพูดความจริงในสิ่งที่มันมีปัญหา ที่มันกระทบความเดือดร้อนของประชาชน อย่าเอาระบบทั้งระบบมาเพื่อที่จะทำลาย เเละกลั่นแกล้งทางการเมือง” พิธา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรายงานตัว ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ได้นำ รังสิมันต์ โรม ขึ้นรถตำรวจไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดตลิ่งชัน เพื่อเข้าพบพนักงานอัยการ โดยหลังจากที่เข้าพบพนักงานอัยการเป็นที่เรียบร้อย รังสิมันต์ โรม ออกมาพร้อมกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เเละทีมงานพรรคก้าวไกลพร้อมระบุว่า "สำนวนไม่สมบูรณ์" ทางตำรวจจะต้องมีการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในวันที่ 31 มีนาคมนี้ จึงไม่ได้มีการฟ้องคดีในวันนี้ ไม่มีการขอฝากขังกันในวันนี้"
รังสิมันต์ ย้ำว่า ผลสรุปที่ว่า สำนวนไม่สมบูรณ์ จึงเป็นคำถามว่า กระบวนการในวันนี้คือการเร่งรัดคดีของผู้มีอำนาจ เพื่อกลั่นแกล้งกันหรือไม่ ยืนยันพร้อมฟ้องกลับให้เป็นบรรทัดฐานคำว่า 'นายสั่งมา' จะต้องไม่เป็นกระบวนการที่ถูกยอมรับในสังคมไทย
"สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าในเมื่อสำนวนยังไม่เรียบร้อยเช่นนี้ แล้วทางตำรวจจะดันทุรังเร่งออกหมายจับเพื่อนำตัวผมมาส่งอัยการไปเพื่ออะไร แล้วศาลอนุมัติหมายจับในสำนวนที่ไม่เรียบร้อยแบบนี้ได้อย่างไร มีใครต้องการใช้กระบวนการทางคดีเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือไม่
"นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับผมแค่คนเดียว และอันที่จริง กรณีของผมนับว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพี่น้องประชาชนผู้แสดงความเห็นทางการเมืองและตั้งคำถามต่อรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก ที่เมื่อถูกยัดคดีเข้ามา เขาก็ไปรายงานตัวกับตำรวจอย่างสม่ำเสมอ ไม่คิดหลบหนี แต่ก็ยังถูกคุมขังอยู่เสมอเพียงเพราะเขาเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากเสียงอะไร
"ผมไม่อยากให้ประเทศแห่งนี้เป็นประเทศที่เมื่อมีคนเอาความจริงมาพูด แล้วผลลัพธ์จะต้องกลายเป็นคดีความอยู่ร่ำไป จนกระทั่งไม่มีใครกล้าตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือ ส.ส. ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย แม้ท่านจะถูกกดดันมาจากเบื้องบน แต่ก็จะต้องไม่นำพาประเทศไปสู่จุดนั้น
“ในวันนี้มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจผมทั้งที่หน้า สน.บางขุนนนท์ ที่สำนักงานอัยการตลิ่งชัน และที่ให้กำลังใจมาทางออนไลน์ ผมขอขอบคุณน้ำใจของพี่น้องทุกท่านที่สละเวลามาติดตามสถานการณ์ของผมครั้งนี้ และหวังว่าการดำเนินการทางกฎหมายต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมจะพิจารณาดำเนินการหลังจากนี้ไป จะช่วยเป็นบรรทัดฐานในการปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทุกคน ไม่มากก็น้อย” รังสิมันต์ กล่างทิ้งท้าย