วันที่ 10 ม.ค. 67 เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ห้ามเกษตรกรเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ขยะมูลฝอย หรือสิ่งของไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยหากได้รับหนังสือเตือนแล้วยังไม่ปฏิบัติ จะสิ้นสิทธิและต้องออกจากที่ดิน
รองโฆษกฯ กล่าวว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงได้เห็นพ้องและมีมติกำหนดให้ เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดิน ห้ามกำจัดวัสดุทางการเกษตร ฟางข้าว ตอซังข้าว ซังข้าวโพด หญ้า หรือขยะมูลฝอย หรือสิ่งอันไม่พึงประสงค์ใด ๆ โดยการเผาอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพดิน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างในโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่น หรือสภาพแวดล้อม ถ้าเกษตรกรไม่ปฏิบัติตาม ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเกษตรกรยังคงฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ ส.ป.ก. มอบหมายจะมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิและต้องออกจากที่ดิน
โดย “รมว.ธรรมนัส” ตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10 รวมทั้งมุ่งผลักดันหลักการ 3R แก่เกษตรกร Re-Habit ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Replace with high value crops ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูงให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผาและลดการบุกรุกป่า และ Replace with Alternate crops ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ จากพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวปรับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและยั่งยืน เพื่อยกระดับวิถีชีวิตประชาชนในทุกมิติ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น อากาศสะอาด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินหน้าแก้ไข พูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ปัญหามีความเข้มข้นมากขึ้น จึงได้สั่งการเร่งสื่อสารให้ประชาชนและเกษตรกรทราบและเข้าใจถึงการทำการเกษตรที่ต้องไม่มีการเผา รวมถึงให้เข้าใจถึงจุดกำเนิดของ PM2.5 ที่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพของประชาชนด้วย” เกณิกา กล่าว