ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา 'เพื่อไทย' ชี้ 'ประยุทธ์' หลุดนายกฯ ปมตำแหน่ง 8 ปี มองเจตนารมณ์ รธน. ชัด ป้องกันการผูกขาดอำนาจ แนะใช้สำนึกตรองดูว่าเป็นนายกฯ มากี่ปี สร้างความเสียหายให้ประเทศเท่าไหร่แล้ว

วันที่ 16 ส.ค. 2565 ที่ Think Lab พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนา '8 ปีประยุทธ์ อยากไปต่อ แต่ต้องพอแค่นี้' โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย  และ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการ

ชูศักดิ์ -402E-4113-9545-3C34DE4C47B2.jpeg

ชี้เจตนารมณ์ รธน. ชัด

ชูศักดิ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 5 ปี มิได้ แน่ด้วยศรีธนญชัยทั้งหลายในประเทศไทย จึงพยายามหาทางเว้นวรรค สร้างนอมินี เพื่อไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงเอาหลักห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ ด้วยเจตนารมณ์ไม่ให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกิน จนติดยึดในอำนาจ จนลุแก่อำนาจอย่างที่เราเห็นกันอยู่

สำหรับความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี และอาจจะอยู่จนจบการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก อาจจะนานเกินไป เราจึงจำเป็นต้องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 264 บทเฉพาะกาล ที่ตีความได้ว่าความเป็นนายกฯ ติดตัว พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผลแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และโดยผลของข้อเท็จจริง สมควรเหลือเกินที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ

"การจะเป็นเจ้าภาพเอเปก พวกเราก็คิดว่าคนไทยไม่มีความสามารถหรือ ครม.ชุดนี้ไม่มีความสามารถหรือ รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องไว้แล้วทั้งสิ้นให้สรรหา ครม. ชุดใหม่ได้ อย่าคิดว่าตนเองมีความสามารถอยู่คนเดียว" ชูศักดิ์ สรุป

จาตุรนต์ -C104-40E9-AD47-70FB0163783B.jpeg

คำนึงเหตุผลทางจริยธรรม

จาตุรนต์ อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่จะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี ในการดำรงตำแหน่ง การตีความตามข้อกฏหมายแตกแยกไปหลายทาง เมื่อมองถึงเจตนารมณ์ของข้อกฏหมาย มีทั้งเจตนารมณ์ที่มองว่า ครม. ปัจจุบัน ถือเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่นับรวม ครม. ชุดก่อนหน้า แต่เจตนารมณ์อีกด้านคือ ยับยั้งการผูกขาดอำนาจ และจะเห็นว่าในช่วงยึดอำนาจ ได้มีการแทรกแซง และครอบงำองค์กรอิสระต่างๆ จนได้ฝังรากลึกตราบจนปัจจุบัน หากเจตนารมณ์จะป้องกันการผูกขาด ก็ควรนับรวมช่วงที่ผูกขาดที่สุด ตรวจสอบไม่ได้ที่สุดด้วย

ตามประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยมีนายกฯ คนใดดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี เพราะความผันผวนทางการเมือง แต่นายกฯ ที่เป็นเผด็จการสามารถทำได้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงควรมีไว้เพื่อป้องกันคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นี่เอง และยังไม่นับความเสียหายจากการบริหารประเทศ ที่ใช้อำนาจกดขี่ ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อถือต่อนานาชาติ

"ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก พอใจ ชอบหรือไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่นี่เป็นเรื่องของเหตุผล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เหตุผลทางจริยธรรม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการคำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศ"

สุทิน -488C-4BA1-83B1-FDC6AA87444B.jpeg

ฟังประชาชนว่ายังเอาหรือไม่

สุทิน มองว่า การตัดสินระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องของศาล เป็นสิ่งที่เข้าใจกันผิด เพราะความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องตัดสินใจและให้คำตอบกับสังคมเอง จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนตัดสินใจว่านายกฯ ควรอยู่ต่อหรือไม่ และหากนายกฯ กับประชาชนคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว จึงส่งต่อให้เป็นการตัดสินใจของศาล ในวันนี้ เรื่องควรจบที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะตัดสินใจยุติการดำรงตำแหน่งเอง ไม่ควรปัดหน้าที่ไปให้ศาล

การจะนับระยะเวลา 8 ปี ของนายกฯ ไม่จำเป็นต้องให้ศาลวินิจฉัย เพียงนับเวลาเอาเองว่าอยู่มา 8 ปี แล้วหรือยัง และที่ผ่านมาได้เกิดความกังวลตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วหรือไม่ เกิดการผูกขาดและสืบทอดอำนาจแล้วหรือไม่ วัฒนธรรมประชาธิปไตยในทางวิถีชีวิต ไม่ได้พูดถึงเพียงโครงสร้าง สภา หรือข้อกฏหมายอย่างเดียว แต่ต้องมองในหลักวัฒนธรรมของประชาชนด้วย 

"โพลหลายสำนักเริ่มชี้แล้วว่าประชาชนไม่อยากให้นายกฯ อยู่ต่อ ก็ควรจะฟังเสียงประชาชน และที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และประเทศ ไม่เช่นนั้นที่อ้างว่าเป็นนายกฯ ประชาธิปไตย แต่ไม่ฟังเสียงประชาชน จะถือว่าเป็นนายกฯ เผด็จการ" สุทิน กล่าว