ตัดมาที่ภาพในพื้นที่ ปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องถึงกุมภาพันธ์ 2565 เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุหนักขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้
วันที่ 28-29 ม.ค.ที่ยะลามีการลอบวางระเบิดกว่า 20 จุด โชคดีว่าไม่มีความสูญเสียชีวิต ทั้งยังเกิดเหตุการณ์ 'วิสามัญฆาตกรรม' โดยเจ้าหน้าที่รัฐ การปิดล้อม การบุกตรวจค้น เกิดขึ้นหลายระลอกในหลายพื้นที่
ทันทีหลังเหตุการณ์ในยะลา 30 ม.ค. 2565 ‘พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ’ นายกเทศมนตรีนครยะลา ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุความรุนแรงจากกลุ่มบุคคลหรือขบวนการที่ไม่อาจทราบได้ พร้อมระบุว่าประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 อยู่แล้ว พอจะตั้งหลักได้อีกหนก็กลับต้องมาติดลบ
"เทศบาลนครยะลา จึงขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำเช่นนี้ และหันมาพูดคุย หาทางออกอย่างสันติ โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะปัจจุบันการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่สังคมโลกไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป อีกทั้งไม่สามารถนำสันติสุขกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดของเราได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อให้ประชาชนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกันว่าเป็นที่รักจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน" แถลงการณ์ระบุ
นับเป็นแถลงการณ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อสถานการณ์ความรุนแรงฉบับแรก
วอยซ์จึงพูดคุยกับ 'พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ' นายกเทศมนตรีนครยะลาถึงวิธีคิด วิธีมองปัญหา และทางออกที่ผู้บริหารท้องถิ่นคนนี้มองเห็น
นายกเทศมนตรีคนนี้เกิดในชุมนุมตลาดเก่าตัวเมืองยะลา จบปริญญาโทจากออสเตรเลีย มาประกอบธุรกิจส่วนตัวก่อนจะลงเล่นการเมืองท้องถิ่น และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แล้วนับตั้งแต่ปี 2546
ปกติเราไม่ค่อยเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ แต่เทศบาลยะลาออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดเกือบ 20 จุดที่ผ่านมา ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองยะลา มองเรื่องนี้อย่างไร ?
แถลงการณ์ประณามกรณีการใช้ความรุนแรง ถ้ามองในเชิงสากลถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติทั่วไป เราจะเห็นต่างประเทศ นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออกแถลงการณ์หรือออกมาให้ข่าวต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อประชาชนของเขา หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
เทศบาลนครยะลาตัดสินใจออกแถลงการณ์ ถือเป็นแถลงการณ์ฉบับแรกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราอยากให้สังคมรู้ว่า
1.เราเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยชอบธรรม นายกเทศมนตรี ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ก่อตั้งเป็นสถาบันแรกของไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และรัฐบาลได้มีการจัดตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ถ้านับระยะเวลาแล้วก็พอ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงการะปกครองของรัฐไทย
2.โดยทั่วไปแล้ว องค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นจะออกแถลงการณ์ก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในแต่ละสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่นั้นๆ ด้วย
แถลงการณ์ครั้งนี้เราหวังว่า จะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หันกลับมาคิดและตระหนักร่วมกันว่าจะมาช่วยกันหาทางออกอย่างไร ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่สามจังหวัดมักมีเหตุการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเติ่มเต็มสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในสามจังหวัดก็จะหายากมากขึ้น เพราะภาพลักษณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วมันน่ากลัว ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าไป แต่เรากำลังเดินถ้อยหลัง
หลังจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โลกใบนี้มีแต่จะเดินหน้าเร็วขึ้น ช่วงโควิดโลกดิจิทัลเองก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะผู้คนเริ่มปรับตัวเข้ามาสู่โลกออนไลน์กันเยอะมาก พวกเราที่อยู่ในสามจังหวัดจะอยู่ตรงไหนในโลกอนาคต ส่วนตัวคิดว่า คงจะยืนอยู่บนปากเหว หรือไม่อาจจะอยู่ในหลุมก้นเหวก็ได้ ดังนั้น ในฐานะเทศบาล จึงต้องการแสดงจุดยืนในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ขณะเดียวกันเราก็เป็นองค์กรที่ไม่ได้ถืออาวุธ สิ่งนี้เป็นสำคัญ เราเป็นองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการถืออาวุธและเป็นองค์กรที่มาจากเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เลยต้องการแสดงจุดยืนและอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาหากัน พูดคุยกัน เพื่อที่จะให้พื้นที่ของเราได้หลุดออกจากสิ่งที่เป็นวิกฤติให้เร็วที่สุด
จังหวัดยะลามีความสำคัญอย่าไรในเชิงยุทศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ?
ยะลาถือเป็นศูนย์กลางในทุกๆ เรื่องของสามจังหวัดชายแดนใต้
1.ยะลาเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา ถือว่าตักกสิลาของภาคใต้เลยก็ว่าได้ เพราะยะลามีการศึกษาครบทุกรูปแบบ มีวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยการกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏ โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนสอนศาสนาที่เด่น ๆ ยะลามีครบหมด นี่คือศูนย์กลางของการศึกษาของภาคใต้
2.ยะลาเป็นศูนย์กลางการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.
3.ยะลาเป็นศูนย์กลางของตำรวจ ศชต.หรือปัจจุบันคือ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า) ตั้งอยู่ที่ค่ายสิรินธร จังหวัดปัตตานี แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดยะลา แต่สาธารณูปโภคทั้งหมดมาจากยะลาเช่นเดียวกัน
5.ยะลาก็เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม เพราะในอดีตยะลาเป็นเมืองเดียวที่มีรถไฟเข้ามาถึงกลางเมือง ก็เลยทำให้เป็นศูนย์กลางของการค้าขายและแหล่งบันเทิงต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีร่องรอยสิ่งเหล่านี้อยู่
6.ในด้านศาสนาอิสลาม ยะลาก็เป็นศูนย์กลางของการดะวะห์ (การปฏิบัติธรรมของชาวมุสลิม) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของความรุนแรง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
เราต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินกันมานานแล้ว ในอดีตอาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547เป็นต้นมา รูปแบบของการก่อเหตุก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป สภาพดังกล่าวทำให้ความมั่นคั่งของทรัพยากรที่มีอยู่ในยะลาไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
สามจังหวัดถือว่าเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ยะลามีทรัพยากรทางธรรมชาติเยอะมาก แต่การใช้อรรถประโยชน์ต่ำ เมื่อมีการใช้อรรถประโยชน์ที่ต่ำก็เลยไม่สามารถนำพาชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นมาได้ ทำให้เมื่อเทียบตัวเลขทางเศรษกิฐของเรากับที่อื่น เราจนกว่าพัทลุงด้วยซ้ำ ในอดีตจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่จนที่สุดในภาคใต้ แต่วันนี้พัทลุงแซงหน้ายะลาไปแล้ว ทุกวันนี้ยะลามีแนวโน้มที่คอยๆ ถอยหลังต่ำลงเรื่อยๆ อยู่ในอาการที่หน้าเป็นห่วง
ขณะเดียวกันดัชนีในการพัฒนาด้านทรัยกรมนุษยก็อยู่ในลำดับท้ายมาโดยตลอด ส่วนตัวคิดว่าสามจังหวัดไม่ได้มีอะไรที่ด้อยพัฒนากว่าจังหวัดอื่น แต่อาจด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ส่งผลในด้านภาพลักษณ์ ภาพจำ ของสังคมที่มองสามจังหวัดรุนแรงที่ไม่ควรมา
มองอย่างไรกับเหตุการลอบวางระเบิด 20 จุด เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ?
ส่วนตัวแล้วไม่กล้าตีความ เรายังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนกระทำ ดังนั้นมันจะไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่เราไปกล่าวหา ในคำแถลงการณ์จะไม่มีการระบุเลยว่าใคร เพราะเราคิดว่าในเมื่อคนที่กระทำไม่ได้เปิดตัวออกมายอมรับ เราเองก็ไม่กล้าที่จะไประบุว่าใครเป็นคนทำ
แต่สิ่งหนึ่งที่เราจับความได้มาโดยตลอด ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐไทยเองก็ดี หรือฝ่ายขบวนการเองก็ดี จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ทุกคนจะบอกว่าทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นในเมื่อทุกฝ่ายต่างทำเพื่อประชาชน และวันนี้ประชาชนกำลังอยู่ในภาวะลำบาก ทำไมเราไม่มาช่วยกัน ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความลำบาก สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่อยากให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันขบคิด
หนึ่งในเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ คือการลดใช้กำลังความรุนแรง แต่ก็ยังเกิดเหตุความรุนแรง มองประเด็นอย่างไร ?
กระบวนการโต๊ะเจรจาทั้งหมด ส่วนตัวก็ได้พูดมาในหลายเวทีว่า ทางเราไม่ได้รับทราบอะไรเลย จริงๆแล้วควรจะมีกระบวนการให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะว่าสุดท้ายผลของการเจรจาไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับผลกระทบ คนที่ถูกปกครองก็คือประชาชน แต่วันนี้เราไม่ได้รับทราบข้อมูลอะไรเลย เราเองจึงไม่กล้าที่จะไปด่วนสรุปว่าเกี่ยวข้องกับการเจรจาด้วยหรือไม่
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องในช่วงนี้คืออะไร ?
ทุกวันนี้คนในพื้นที่อาจมองว่าไม่เป็นไร เพราะว่าไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรมาก ทั้งทางชีวิตและทางทรัพย์สิน แต่เราต้องยอมรับว่าเวลาภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปสู่สังคมภายนอก เขาไม่ได้รับทราบเหมือนคนในพื้นที่ เขาดูเพียงภาพข่าว สิ่งที่เขาทราบก็คือระเบิด และยิ่งภาพระเบิดออกไป 20 กว่าจุด สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นของคนที่อยากมาลงทุน คนที่อยากมาท่องเที่ยว เร็วๆ นี้เบตงก็จะมีสายการบินนกแอร์มาลง ทุกอย่างเลยต้องหยุดชะงักหมด การจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นหรือมีความรู้สึกที่ดีต่อยะลาจึงต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร
ความเสียหายที่เกิดเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงพื้นที่จังหวัดยะลาอย่างเดียว เพราะความเชื่อมโยงของความรู้สึกของคนในสามจังหวัดมันเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดเหตุที่ยะลา ก็จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกกับคนกับนราธิวาสและปัตตานีด้วย
ในอนาคต ทั้งภาครัฐและประชาชนควรที่จะมีการรับมือเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร ?
ทุกวันนี้เราในฐานะประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ควรที่จะออกมาร่วมกันส่งเสียงว่า เราลำบากมาพอแล้วและขอให้หยุดการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะรูปแบบไหน เราในฐานะประชาชนในพื้นที่ก็จำเป็นที่ต้องติดตามการเจรจาพุดคุย รวมไปถึงข้อเสนอต่างๆ หรือถ้าเป็นไปได้ เราอาจจะมาร่วมทำข้อเสนอของประชาชนเองเลย
กฏอัยการศึกและกฎหมายพิเศษในสามจังหวัด ส่งผลอย่างไรต่อการบริหาร ?
กฏหมายส่วนตัวแล้วไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับคนที่นำกฏหมายมาใช้มากกว่า บางคนมีอำนาจเต็มไปหมดแต่กลับไม่ใช้ แต่บางคนไม่มีอำนาจอะไรสักอย่าง แต่เวลาถือกฏหมายแล้ว พยายามเบ่งอำนาจที่เกินตัวจากอำนาจที่มีอยู่ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นปัญหามากกว่า เราจะทำอย่างไรให้คนที่ถือกฏหมายใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ตามขอบเขตที่เหมาะสม ไม่เป็นภัยต่อประชาชน เราไม่ควรที่จะทำให้ผู้ถือกฏหมายกลับกลายเป็นโจรเสียเอง
ในสถานการณ์โควิด ยะลาเผชิญปัญหาด้านทรัพยากรบ้างไหม ?
แน่นอนปัญหามีแน่ อันแรกคือรัฐบาลสั่งให้เราลดภาษีให้ประชาชน พอเราลดภาษี รายได้ก็หาย อันที่สองรัฐบาลเองก็ได้มอบหมายให้งานต่างๆ แต่ไม่ได้มอบงบประมาณตามมาด้วย เช่น สถานที่กักตัวแต่ละชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นงบประมาณจากท่องถิ่นเอง เราจำเป็นต้องทำเพราะมันคือความเดือดร้อนของประชาชน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะงบประมาณที่มีไม่พอ
เมื่อมีโควิดระบาดมากขึ้น มาตตราการในการล็อคดาวน์ การจำกัดการนั่งในร้านอาหาร การลดระยะเวลาการค้าขาย สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษกิฐของประชาชนทั้งสิ้น คนที่ขายของผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังพอขายได้อยู่ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดลูกโซ่ในภาพรวมที่ผูกพันธ์กันไปทั้งหมดทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวก็พากันซบเซาไปทั้งหมด
ทางออกในอนาคต รัฐควรจะเข้ามาซับพอร์ตแค่ไหน อย่างไร?
1. วันนี้เราควรจะเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาสรุปปรับปรุงแก้ไขให้มีการรับมือที่ดีขึ้น
2.จะทำอย่างไร ให้ทุกพื้นที่สามารถสร้างรากฐานจากท้องถิ่นที่เข็มแข็งในการรับมือการระบาดในอนาคต เพราะการระบาดของโรคมันจำเป็นที่จะต้องใช้ความรวดเร็วในการรับมือและแก้ปัญหา ตราบใดที่รัฐบาลทุกวันนี้ยังรวมศูนย์อำนาจการขับเคลื่อนต่างๆ การแก้ปัญหาก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า ฉะนั้นควรมอบอำนาจให้กับท้องถิ่นเข้ามาดูแล มีงบประมาณ มีกองทุนที่เพียงพอ ท้องถิ่นก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นี่เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรต้องทบทวน
ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่และเป็นผู้บริหารที่นับถือศาสนาพุทธ มองว่าทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ควรทำเช่นไร ?
ในโลกทั่วไป ทุกวันนี้ความรุนแรงคงไม่มีใครยอมรับ เราควรจะหาแนวทางการต่อสู้ด้วยวิธีทางอื่นๆ จะดีกว่า เช่น ต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล ต่อสู้ด้วยการเสนอว่าใครจะให้ประโยชน์ประชาชนดีกว่าใคร ส่วนตัวคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า จะเป็นสิ่งที่สามารถช่วงชิงความรู้สึก ช่วงชิงใจของประชาชนได้มากกว่า
ปัญหาของเมืองยะลา ที่ต้องแก้ไขโดยด่วนคืออะไร ?
ในฐานะที่เราอยู่ข้างหลังมานาน เพราะฉะนั้นในด้านของการศึกษา เศรษฐกิจ การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน รวมถีงเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราต้องกลับมาดูพร้อมกันทุกเรื่อง เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ช่วงสถานการณ์โควิด ส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องการศึกษาที่สุด ในด้านระบบยอมรับว่าคงสู่กับอดีตไม่ได้
อย่างที่หนึ่ง สมองเราไหลมากขึ้น เกิดจากความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย เช่นในยุคหนึ่งที่มีระเบิด คนส่วนใหญ่ที่กลัวก็เริ่มย้ายไปที่อื่นหมด ในเมื่อเงินเดือนเท่ากันแต่ความเสี่ยงที่มีน้อยกว่า เขาก็ไป พอมาวันนี้ เด็กเก่งๆ ที่จบมาจากในและต่างประเทศก็กระจายไปทำงานที่ต่างจังหวัดกันเยอะขึ้น เนื่องด้วยการสร้างงานในพื้นที่ของเรามีน้อย จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต มีงานที่ท้าทายมากขึ้นในพื้นที่ มีงานที่สอดคล้องกับความถนัดของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่ที่ภาพองค์รวมทั้งหมดด้วย มองแยกออกจากกันไม่ได้
อย่างที่สอง ทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษา เช่น ครู อุสตาซ อาจารย์ที่เก่งๆ ก็หายไปเยอะ เหตุการณ์ความไม่สงบมันบั่นทอนการดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาในพื้นที่
==========
สัมภาษณ์โดย มุมิน รัตนชนานนท์