ไม่พบผลการค้นหา
17 ก.พ. ในการอภิปรายแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงปัญหาบริหารราชการแผ่นดินว่า ต้นตอปัญหาคือภาวะผู้นำของนายกฯ และความชอบธรรมของนายกฯ เป็นสาเหตุของความขัดแย้งมาจนปัจจุบัน เมื่อได้อำนาจจากปลายกระบอกปืนก็สร้างกไลกผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว.ตำแหน่งและองค์กรอิสระในการค้ำยันตำแหน่ง อ้างตลอดว่าผ่านประชามติ แต่ทราบกันดีว่าเป็นประชามติแบบมัดมือชก เมื่อรัฐธรรมนูญวางกลไกขัดแย้งระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูปย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่คาดหวังเลยว่าจะเห็นการปฏิรูปประเทศเกิดในรัฐบาลประยุทธ์ ยกตัวอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกฯ ลอยตัวเหนือปัญหา เมื่อประชาชน พรรคการเมืองเรียกร้องการแก้ไข ปล่อยให้ลิ่วล้อมาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ

ด้านปัญหาเศรษฐกิจพิสูจนแล้วว่า ท่านขาดความรู้ความสามารถพาประเทศไปสู่ความเจริญ ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยต่างกันเรื่อยๆ คนรวยสุด 10% ถือสินทรัพย์ 77% และเวลา 7 ปีที่บริหาร ความเหลื่อมล้ำเราสูงที่สุดในโลก ยิ่งมีโควิด ยิ่งดิ่งเหว ต้นตอของปัญหาคือการเอาผู้นำด้านการทหารมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทั้งที่ทีดีอาร์ไอ สภาอุตสหากรรมฯ ท้วงติงหลายอย่าง แต่นายกฯ ไม่รับฟังและนำไปปฏิบัติ สิ่งที่บ่งบอกความตกต่ำมีหลายด้าน คนตกงาน ของแพง ค่าแรงถูก ธุรกิจเลิกกิจการ ผู้คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นตลอด 7 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ปี 2563 คนฆ่าตัวตายสูงถึง 7.27 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน 

การบริหารมุ่งแต่ก่อหนี้สาสาธารณะ พอใกล้ชนเพดานก็ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้กู้เพิ่มขึ้น เอาเงินในอนาคตของลูกหลานมาใช้อย่างไม่มีเหตุผล เป็นภาระให้ต้องตามใช้หนี้แทนท่าน ในทางกลับกัน แทนที่จะเห็นความเดือดร้อนประชาชนกลับเอื้อประโยชน์จากกลุ่มทุน ยกตัวอย่างสองเรื่อง คือ การเอาทรัพยากรธรรมชาติไปแลกความผิดพลาดในกรณีเหมืองทองอัครา และปัญหารถไฟฟ้าสีเขียว ชัดเจนว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานที่มีความบิดเบี้ยว ยกผลประโยชน์ประชาชนไปให้กลุ่มทุนที่วางแผนไว้ โดยการออกม.44 เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนในการดำเนินการดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องแบกรับราคาค่าโดยสารแพง 

เรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ อ้างเหตุผลว่า เป็นไปเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย จึงต้องเข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ สิ่งที่พูดไม่ปรากฏเป็นจริงเลย แผนการปฏิรูปประเทศเป็นเพียงวาทกรรม ฉากบังหน้า เพื่อสร้างความชอบธรรมกับการรัฐประหาร เขียนเรื่องการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ ถามว่าอะไรสำเร็จบ้าง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ เพื่อขจัดคู่แข่งขันและสร้างความได้เปรียบ นี่หรือการปฏิรูประเทศ ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คสช.ปลดผู้บริหารอปท.ออกจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาการเลือกตั้ง หากผู้บริหารคนใดยอมสนับสนุนพรรคที่ให้ท่านเป็นายกฯ ก็ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม การเลือกตั้ง อบจ. เกิดปี 2562 หลายปีหลังยึดอำนาจ ตลอดเวลาดังกล่าว 'พี่ของท่านที่ดูแลกระทรวงมหาดไทย' ซึ่งดูแล อปท. ถึงขนาดมีการแก้ไขกฎหมายบางอย่างขององค์กรท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อการกระจายอำนาจ แต่ปูทางให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคพวกท่าน จึงเกิดข่าวการทุจริตของ อปท.หลายแห่ง โดยเฉพาะการทุจริตโรงงานขยะมูลฝอย ท้องถิ่นสุดท้ายคือ กทม. มีงบมหาศาล ท่านกลับแต่งตั้งคนตัวเองเป็นผู้ว่าฯ ยาวนานเกือบ 2 สมัย ทั้งที่ควรมีการเลือกตั้งเมื่อกฎหมายอปท.ผ่านสภาเมื่อปี 2562 เหตุที่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากผลประโยชน์ท่านและพวกพ้อง แต่ภายหลังเหมือนจะยอมจำนนเพราะประชาชนส่งเสียงเรียกร้อง 

การแก้ไขปัญหาโควิด ยังต้ั้งทหารเป็นเลขา ศบค. ไม่สามารถทำงานร่วมกับข้าราชาการสาธารณสุขได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ไม่มีความจริงใจ องค์กรอิสระต่างโอบอุ้มท่านตลอดมา แต่พอใครมีเรื่องที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกลับใช้กฎหมายเล่นงานโดยไม่คำนึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆ การปฏิรูปองค์กรตำรวจ นับหนึ่งไม่ถึงร้อย เป็นการสร้างฐานอำนาจใหม่ให้พวกพ้อง การโยกย้าย การเข้าสู่ตำแหน่ง รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ต้องใช้ปัจจัยและคอนเน็กชั่นอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

สิทธิของประชาชนถดถอยมากที่สุด การปฏิรูปการศึกษาไม่มีรูปธรรมสักเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากการแก้ไขปรับปรุงกม.หลายฉบับที่สำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปสร้างคุณภาพของการศึกษา แทนที่จะกระจายอำนาจไปเขตพื้นที่การศึกาาต่างๆ นายกฯ กลับดึงอำนาจไปสู่ส่วนกลาง การบริหารจึงมีปัญหาและถดถอยถึงทุกวันนี้ การไม่สนในเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศ ส่งผลให้นักเรียนไม่พอใจ เกิดการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม 

ประเสริฐกล่าวต่อว่า จากที่กระผมได้อภิปรายมาข้างต้น มีข้อเสนอแนะสำหรับท่าน ดังนี้

  • ประการแรก ท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้มากขึ้น โดยเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตแล้วนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นอนุสติเตือนใจไม่ให้เกิดขึ้นอีก ละเลิกพฤติกรรมที่เห็นว่าตัวเองเก่งกล้าสามารถลงบ้าง และหันไปรับฟังผู้อื่นให้มากขึ้น
  • ประการที่สอง ลดการแจกกล้วยหรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อรักษาตำแหน่งของท่านลง และใช้การบริหารราชการแผ่นดินตามหลักธรรมาภิบาล โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้มากขึ้น
  • ประการที่สาม เรื่องใดที่ท่านไม่มีองค์ความรู้ก็อย่าอวดฉลาด ทำไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะมีปัญหา ควรที่ท่านจะปรึกษาหารือผู้รู้ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้า
  • ประการที่สี่ ควบคุมพวกพ้องของท่านให้ละวางเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ให้น้อยลงและหันกลับมาแก้ปัญหาให้ประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะพี่ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวท่าน
  • ประการที่ห้า หากท่านทนไม่ไหวที่จะแบกรับปัญหาต่อไป และเกิดความละอายใจ ก็ขอให้ลาออก หรือยุบสภาเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินเลือกผู้นำคนใหม่

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่าถึงการจัดการที่เรื่องที่ดินระบุว่า ในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ เอกชน 128 ล้านไร่ 39% ที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งมีหน่วยงานที่มีอาณาเขตมีที่ดินของตัวเองอยู่ 9 หน่วยงาน ตอนมาชี้แจงยังมีหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การรถไฟฯ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เราจะพบว่าเมื่อเอาแนวเขตที่ดินของรัฐมารวมกัน จะมีแนวเขตมากกว่าประเทศไทย โดยมีมีจำนวน 458 ล้านไร่ นั่นเป็นเพราะความบกพร่องของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แนวเขตที่เกินไปนั้น นายกฯ บอกจะทำ one map ให้เสร็จใน 1 ปี ผ่านมาแล้ว 6 ปีไม่ไปไหน เหมือนการปฏิรูปประเทศ

ปัญหาที่ดินเป็นแดนสนธยา หาข้อมูลยากมาก กมธ.สอบถามโฉนดที่ดินใช้เวลาเกือบ 3 ปี ทราบว่า มีโฉนดที่ดิน 19.6 ล้านราย โดยีประมาณ 14.7 ล้านรายที่เป็นโฉนดไม่เกิน 5 ไร่ ส่วนที่ดินที่เป็นแปลงเกษตรกรรม ทำการพาณิชย์แบบเกิน 5ไร่ และเกิน 50 ไร่ขึ้นไป มีประมาณ 4.7 ล้านราย กล่าวเฉพาะส่วนที่มากกว่า 50 ไร่จะมีอยู่ 44,931 ราย คนเหล่านี้เป็นนักกักตุนที่ดิน นี่คือรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำ

จำนวนที่ดินเอกชนกับรัฐจะเพิ่มหรือลด ผู้มีอำนาจจัดการคือ กรมที่ดิน ที่จะเพิ่มที่ดินจากรัฐมาเป็นของเอกชน ส่วนรัฐจะเพิ่มที่ดินได้ก็ด้วยการประกาศทับที่ของเอกชนทั้งที่เอกชนหรือชาวบ้านั้นอยู่มานาน แต่ประกาศแนวป่าแนวเขตไปทับที่ แผ่นดินเราไม่ได้งอกขึ้นมา แต่สิ่งที่ยืดเข้ายืดออกคืออำนาจของหน่วยงานที่ประกาศเขต 

อีกเรื่องคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มีการประกาศเขตอุทยานกันในราวปี 2541-2542 หลังจากนั้นมีเสียงร้องระงมว่า มีที่ดิน 4.7 ล้านไร่ของอุทยานทั่วไปเทศที่ประกาศทับที่ประชาชน บางชุมชนโดยเฉพาะในนราธิวาส ปัตตานี ยะลา เขาอยู่มา 300 ปีก็ถูกประกาศทับ สมัยประธานสภา นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ก็ออกมติ ครม.ไม่ให้จับและพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งทำมาเรื่อยจนปี 2562 นายกฯ คนปัจจุบัน ออกพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนบอกว่ากฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรม เขาแสดงตัวถึง 22 ปีแล้ว รัฐก็พิสูจน์ไม่ได้ และการพิสูจน์สิทธิเป็นอันจไปด้วยพ.ร.บ.อุทยานที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ดิน 470 ล้านไร่เป็นที่อุทยาน  

นอกจากนี้ทวียังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยว่า "สิ่งที่ท่านพูดว่าเศรษฐกิจมันดี มันดีสำหรับคนที่อยู่ใกล้ชิดท่าน ในยุคโควิด คนรวยกลายเป็นคนจน คนจนกลายเป็นคนยิ่งกว่าจน ผมไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร" 

ช่วงโควิด ตลาดหลักทรัพย์โต 230% แล้วคนเหล่านั้นก็ล้วนเป็นที่ปรึกษานายกฯ แต่สำหรับประชาชนชีวิตดิ่งเอาๆ 3 จังหวัดมีทรัพยากรมหาศาล ทั้งวัฒนธรรม ธรรมชาติของพื้นที่ เรียกว่ามีศักยภาพมาก แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลับทำให้สามจังหวัดกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด นั่นเพราะท่านมีรัฐซ้อนรัฐ มี กอ.รมน. มี ศอ.บต. มียุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ แล้วยังมีที่ปรึกษาที่พิเศษ ครม.ส่วนหน้า โดยไม่ไว้ใจประชาชนในพื้นที่