ไม่พบผลการค้นหา
'งบบูรณาการ' คำนี้เราน่าจะได้ยินบ่อยและปล่อยผ่านไป เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร!? แต่เจ้าของภาษีพึงดูในรายละเอียด เพราะงบนี้ก้อนใหญ่ใช่ย่อย ระดับหลายแสนล้าน

บูรณาการ แปลความได้ว่า มีการดำเนินการหลายหน่วยงานร่วมกัน (ตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป) ในเรื่องใดๆ ก็ตามทั้งในทาง agenda (ประเด็น) หรือ area (พื้นที่) เพื่อไม่ให้แต่ละหน่วยทำงานซ้ำซ้อน - งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น งบส่วนนี้เป็นงบที่เพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือจากงบที่กระจายไปตามงานประจำของกระทรวงต่างๆ

 แม้ดูดีในทางหลักการ แต่ดูเหมือนของจริงจะมีปัญหาอยูมาก

งบบูรณาการปรากฏในระบบงบประมาณมานานแล้ว ปี 2529 เคยจัดงบบูรณาการด้านน้ำดาบาล ปี 2545 เคยจัดงบบูรณาการ 'ผู้ว่า CEO' จนมาปี 2550 จัดงบบูรณาการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เพิ่งแยกเป็น 'งบบูรณาการ' เพื่อจัดทำ 'แผนงานบูรณาการ' อย่างชัดเจนจริงจังในระบบงบประมาณ เมื่อปี 2560 ในยุคสมัยของ คสช. ทั้งนี้ แผนงานในงบบูรณาการมักเป็นแผนงานต่อเนื่อง 3-7 ปี แต่ก็มีโครงการจำนวนหนึ่งที่ได้งบแค่ปีเดียวแล้วไม่ได้อีก

ในงบประมาณปีล่าสุด 2566 ที่ กมธ.กำลังพิจารณากันอยู ตั้งงบบูรณาการไว้ราว 2.2 แสนล้าน คิดเป็นประมาณ 7% ของงบประมาณทั้งหมด

'งบบูรณาการ' เคยประกอบด้วยแผนบูรณาการ 25 แผนและลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือ 11 แผน ทั้งหมดเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบบูรณาการเป็นการเฉพาะ โดยนายกฯ จะแบ่งรองนายกฯ คนต่างๆ ดูคนละ 2-3 แผนตามความถนัด

แผนงานบูรณาการที่ใช้งบบูรณาการ 11 ด้าน (รายละเอียดดูด้านล่าง) แต่แบ่งคร่าวๆ ที่ใช้งบเยอะได้เป็น 4 ส่วน คือ

อันดับ 1 คือ คมนาคมและโลจิสติกส์ ใช้งบ 60% ของงบบูรณาการทั้งหมด

อันดับ 2 คือ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 25%

อันดับ 3 คือ แผนย่อยอื่นๆ รวมกัน 10%

อันดับ 4 คือ EEC 5%

หากนับตั้งแต่ปี 2560 งบบูรณาการแต่ละปีมีดังนี้

ปี 2560 = 704,197 ล้านบาท

ปี 2561 = 942,805 ล้านบาท

ปี 2562 = 806,244 ล้านบาท

ปี 2563 = 230,058 ล้านบาท

ปี 2564 = 250,742 ล้านบาท

ปี 2565 = 204,179 ล้านบาท

ปี 2566 = 218,478 ล้านบาท

 รวม 7 ปี ใช้งบบูรณาการไป 3.35 ล้านล้านบาท (หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดิน 1 ปี)

หากสังเกตดู งบบูรณาการลดฮวบฮาบในปี 2563 ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่หลังจากนั้นก็พอคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะวิกฤตโควิดด้วย

ส่วนปัญหาหลักๆ ของงบบูรณาการ สำนักงบประมาณวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นเพราะ

1.ไม่ได้บูรณาการกันแท้จริง เป็นเพียงการรวมโครงการของส่วนราชการต่างๆ มาขอรับงบบูรณาการ ต่างคนต่างทำ

2.หน่วยงานไม่ได้คิดอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง และทำต่อเนื่องตามๆ กันไป ไม่มีการหารือเป้าหมายร่วมกัน หรือแม้กระทั่งประสานการทำงาน

3.ขาดการกลั่นกรองโครงการ ขาดระบบกำกับติดตามการดำเนินงานที่ดีพอ ได้แต่รายงานผล แต่ไม่มีการประเมินผลสัมฤทธิ์

4.กมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณ ระบุว่า การดำเนินงานภายใต้งบบูรณาการ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความต่อเนื่อง ขาดเจ้าภาพหลักเวลาประสานงานกัน

 5. กมธ.ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ ต่างเห็นว่าถึงเวลาทบทวนการจัดงบประมาณบูรณาการอย่างจริงจังเพราะมีปัญหาและอุปสรรคทั้ง การวางแผน การจัดสรรงบ และนำนโยบายไปปฏิบัติ คำถามจี้ใจดำคือ "ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเช่นนี้อยู่หรือไม่? " แปลความแบบชาวบ้านได้ว่า ถ้ามันทำแล้วไม่เวิร์ค ยกเลิกเสียดีไหม?

 6.สำนักงบประมาณเสนอว่า ต้องมีการระบุระยะเวลาที่จะได้งบประมาณ และประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง

 7.เมื่อประเมินแผนงานบูรณาการที่แบ่งตามยุทธศาสตร์ชาติ จะพบว่า ในช่วง 5 ปีแรก พบว่า

ด้านความมั่นคง :

ประเด็นยาเสพติด บรรลุเป้าหมายในภาพรวมต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยง (สีส้ม)

ประเด็นชายแดนใต้ บรรลุเป้าหมายในภาพรวมต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (สีเหลือง)

ด้านการแข่งขัน :

ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต บรรลุเป้าหมายต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต (สีแดง)

ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ ดิจิทัล บบรลุเป้าหมายต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยง (สีส้ม)

เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า มีหลายแผนงานที่สภาพัฒน์ประเมินแล้ว เป็น สีแดง-สีส้ม เรียกว่าต่ำกว่าเป้าหมายหมายที่ตั้งไว้มาก

งบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2566

1.พัฒนาคมนาคมฯ 131,373 ล้านบาท คิดเป็น 60.13%

2.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 54,122 ล้านบาท คิดเป็น 24.77%

3.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 11,087 ล้านบาท คิดเป็น 5.07%

4.ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 6,251 ล้านบาท คิดเป็น 2.86%

5.สร้างรายได้จาการท่องเที่ยว 5,125 ล้านบาท คิดเป็น 2.35%

6.ป้องกัน ปราบปราม บำบัดผู้ติดยาเสพติด 4,188 ล้านบาท คิดเป็น 1.92%

7.รัฐบาลดิจิทัล 2,356 ล้านบาท คิดเป็น 1.08%

8.พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 1,555 ล้านบาท คิดเป็น 0.71%

9.พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 1,474 ล้านบาท คิดเป็น 0.67%

10.ต่อต้านการทุจริต 498 ล้านบาท คิดเป็น 0.23%

11.เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 448 ล้านบาท คิดเป็น 0.21%

ภายใต้แผนงานหลักนี้ก็จะมีโครงการย่อยๆ อยู่มากมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2566 กำลังพิจารณากันอยู่ และ 'งบบูรณาการ' นี้จะอยู่ช่วงท้ายๆ ของการพิจารณา ต้องรอดูว่า กมธ. จะตัดลดโครงการที่ 'ไม่มีประสิทธิภาพ' ได้กี่มากน้อย


ที่มาข้อมูล : การวิเคราะห์งบประมาณ แผนบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2566, สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO).