รัฐบาลเนปาลส่งเจ้าหน้าที่พิเศษ 14 คนขึ้นไปเก็บกวาดขยะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยจะปฏิบัติหน้าที่เก็บกวาดขยะบนยอดเขาแห่งนี้เป็นเวลาทั้งหมด 45 วัน และจะปีนขึ้นไปถึงแคมป์ 4 ซึ่งตั้งอยู่สูงถึง 7,950 เมตร เพื่อไปตามเก็บกวาดขยะลงมา
ล่าสุด มีรายงานว่าทีมพิเศษนี้สามารถเก็บกวาดขยะไปได้มากกว่า 3 ตันแล้ว และพบศพผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยมีเฮลิคอปเตอร์ทหารคอยช่วยขนขยะลงมาจากเขา แต่ทีมพิเศษตั้งเป้าว่าจะสามารถเก็บกวาดขยะออกจากภูเขาดังกล่าวได้ 10 ตัน
ปฏิบัติการพิเศษนี้มีขึ้นในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิพอดี ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีนักปีนเขาหลายร้อยคนมาลองปีนยอดเขาสูง 8,248 เมตรนี้ พร้อมด้วยลูกหาบอีกมากกว่า 1,000 คน โดยปี 2018 มีนักปีนเขา 807 คนพิชิตยอดเขาได้
ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม
ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เอเวอเรสต์ประสบปัญหามลพิษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักผจญภัยไม่เพียงแต่ทิ้งขยะจำพวกกระป๋อง ขวด พลาสติกเอาไว้บนภูเขา แต่รวมถึงอุปกรณ์ปีนเขา เต็นท์ฟลูออเรสเซนต์ ถังอากาศที่ใช้หมดแล้ว และยังขับถ่ายทิ้งไว้ด้วย จนทำให้หลายคนเรียกยอดเขาเอเวอเรสต์ว่าเป็นบ่อขยะที่สูงที่สุดในโลก
มลพิษจากขยะไม่ได้เป็นภัยคุกคามอย่างเดียวต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนว่า ภาวะโลกร้อนก็มีผลกระทบกับรูปร่างลักษณะของเขาแห่งนี้ โดยธารน้ำแข็งคุมบูทางฝั่งเนปาลอาจจะหายไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ธารน้ำแข็งที่ละลายแล้วก็มักเผยให้เห็นขยะและศพของนักปีนเขามากขึ้นด้วย โดยมีรายงานว่ามีนักปีนเขาเสียชีวิตไปมากกว่า 200 รายนับตั้งแต่ปี 1922 ที่มีการบันทึกยอดผู้เสียชีวิตบนเขาเอเวอรเสต์ และเชื่อว่าร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังถูกฝังอยู่ใต้ธารน้ำแข็งและหิมะ
ที่มา : Deutche Weller, CNN