ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์นี้ ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยระบุว่า ตอนนี้ที่กังวลอยู่คือเรื่องน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพราะล่าสุดมีรายงานว่าน้ำเหนือเขื่อนมีประมาณร้อยละ 40 ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องติดตามน้ำเหนือเขื่อนอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ กทม.ไม่ได้กังวลปริมาณน้ำที่จะมาวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะเตรียมพร้อมไว้เต็มที่แล้ว แต่ กทม.กังวลระยะยาวว่า ถ้าถึงเวลาน้ำเหนือเขื่อนเต็ม ต้องปล่อยน้ำเข้ามาจะมีปัญหาอะไรกับกรุงเทพมหานครหรือไม่
เพราะเท่าที่ดูตัวเลข ปีนี้ปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว ถ้ามีมรสุมเข้ามาอีกหลายลูกต้องดูว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ได้สั่งให้ทำชาร์ทบอร์ดสรุปภาพรวมของน้ำในกรุงเทพมหานคร ให้เห็นว่าแต่ละสถานีสูบน้ำเป็นอย่างไร และน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาที่ระบายลงมา กทม.เป็นเท่าไร
ดังนั้นตอนนี้ที่กังวล คือ น้ำเหนือที่จะมาเสริมน้ำฝน ต้องเตรียมการระยะยาว ต้องหารือกับหลายหน่วยงาน เพราะ กทม.ไม่ได้เป็นผู้ควบคุม แต่ กทม.ต้องเตรียมพร้อมระวังตัวไว้ โดยสั่งการให้เอาข้อมูลย้อนหลังแต่ละปีมาดู โดยใช้ข้อมูลปี 54 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ กทม.เป็นตัวหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปีนี้กับปี 2554 น้ำหลังเขื่อนเป็นเท่าไร จะได้รู้สถานการณ์และเตรียมตัว คาดว่าน้ำจะมามากคงอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า
ผู้ว่าฯกทม.ยังพูดถึงน้ำท่วมเกาหลีใต้รอบนี้หนักมาก ตื่นเช้ามายังตกใจว่าที่ไหน ใช้ที่กรุงเทพหรือเปล่า ผู้สื่อข่าวแซวผู้ว่าฯกทม.ว่า น้ำท่วมที่เกาหลีใต้ แต่มีคนถามหาผู้ว่าฯชัชชาติด้วย
ชัชชาติ เปิดเผยว่ากรุงเทพมหานครกำหนดเก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายในเดือนกันยายนนี้ ขณะนี้คำนวณค่าบริการไว้เรียบร้อยหมดแล้ว โดยใช้สูตร 14+2x (ค่าแรกเข้า 14 บาท บวกด้วยจำนวนสถานีที่ใช้บริการ คูณ2 เท่ากับค่าโดยสารที่ผู้ใช้บริการต้องจ่าย)
ชัชชาติ กล่าวว่า ตอนนี้อยากให้รีบคุยเรื่องค่าแรกเข้า แม้จะมีการปรับราคาค่าโดยสาร แต่ค่าแรกเข้า กทม.ไม่ได้เลย ทำให้รายได้ที่เข้า กทม.ไม่ได้เยอะ เพราะยังตกลงกันไม่ได้ว่าค่าแรกเข้า ควรเป็นของใคร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้โดยสารขึ้นรถไฟฟ้ามาจากส่วนต่อขยายบริเวณสถานีคูคต(กทม.รับผิดชอบ) ผ่านเข้ามายังสถานีชั้นใน หรือเรียกว่าส่วนไข่แดง (เอกชน(BTSC)ได้สัมปทาน) ใครควรจะได้ค่าแรกเข้า สมมติถ้า กทม.เก็บค่าโดยสารได้ 19 บาท และต้องหักบางส่วนไปจ่ายค่าแรกเข้าให้ส่วนที่เอกชนรับผิดชอบ ส่วนที่เป็นไข่แดง กทม.จะเหลือเงินนิดเดียว
ดังนั้นต้องไปเจรจาว่าจะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร เพราะตามหลักแล้วค่าแรกเข้าควรเป็นค่าบริการดูแลสถานีแรกเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน
แต่อย่าลืมว่า รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว กทม.ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องยากที่มีรายได้ให้คุ้มทุน กทม.คาดว่าจะประกาศราคาค่าโดยสาร ประมาณสัปดาห์นี้หรืออาจจะเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อเริ่มเก็บค่าโดยสารในเดือนกันยายน ส่วนการแบ่งสัดส่วนค่าแรกเข้านั้น สามารถไปเจรจากับเอกชนทำควบคู่ไปได้ โดยจะเก็บค่าโดยสารมาก่อน เพราะต้องให้เวลาเอกชนเตรียมตัวล่วงหน้า สำหรับเตรียมระบบเก็บค่าบริการประมาณ 30 วัน
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว เป็นเรื่องของความยุติธรรม คนที่ใช้ก็ควรต้องจ่าย เพราะถ้าไม่เก็บค่าโดยสารผู้ใช้บริการ จะกลายเป็นว่าทุกคนใน กทม.ต้องมาช่วยจ่ายค่าเดินรถส่วนที่ 2 ซึ่งไม่ยุติธรรมกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า