เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) พร้อมดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลว่า การที่ กทม.ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นวิสาหกิจ กทม.ถือหุ้นร้อยละ 99.98 เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของ กทม.มีความคล่องตัว
ดังนั้น เมื่อบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบ ขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครกับบีทีเอสทั้งในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 กทม.จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ให้กับบีทีเอสด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ย 2,199,091,830.27 บาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ด้าน ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า เรื่องนี้ทางบริษัทจะยื่นอุทธรณ์แน่นอน หลังจากรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารที่มีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ได้รับทราบในวันที่ 8 ก.ย.แล้ว จะแถลงข่าวถึงแผนการยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดเงินที่ ศาลปกครองกลางสั่งให้จ่ายรวมดอกเบี้ยทั้ง 2 ส่วนต่อขยาย เป็นเงินรวมกันกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ชดใช้ค่าเสียหาย 12,600 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ให้ กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญา ชำระค่าตอบแทน การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ว่า เป็นเรื่องเก่าที่มีการฟ้องร้องตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 ซึ่งการจ่ายเงิน กทม. ต้องคิดอย่างรอบคอบ ต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะเงินที่นำมาจ่ายเป็นเงินจากภาษีประชาชน โดยจะมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา หารือกับฝ่ายบริหารว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ กทม. มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
ชัชชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเงินค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท ส่วนที่ 2 ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท รวมดอกเบี้ยแล้วประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 กทม. มีเพียงหนังสือมอบหมายงาน ตรงนี้ทำให้เรามีข้อกังวลว่าเรามีอำนาจในการจ่ายเงินจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการระบุตัวเงินชัดเจน ไม่เหมือนในสัญญาในส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 ประเด็นเหล่านี้อาจจะอยู่ในคำชี้แจงในคำอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง เราไม่ได้ติดอะไรเป็นเรื่องในอดีต เราไม่ได้เป็นคนทำไว้แต่เราอยากให้ยุติธรรม อยากให้รอบคอบที่สุดเพราะสุดท้าย เราก็เอาเงินประชาชนไปจ่าย ถ้าเรามีมุมไหนอยากได้ความกระจ่างเพื่อให้ชัดเจน และให้ศาล ช่วยพิจารณาเพิ่มเติม คงอยู่ในคำอุทธรณ์ของศาล
ผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า ส่วนเรื่องการ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แม้จะเป็นอำนาจของ ผู้ว่าฯกทม. โดยตรง แต่ต้องมีการรายงาน ให้ที่ประชุมสภา กทม. รับทราบ เพราะหากก่อหนี้ต้องขออนุมัติงบประมาณ นอก จากนี้จะเสนอเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเขียวเข้าสภา กทม. ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ โดยจะมีการรายงาน 3 เรื่องได้แก่ 1. ความเป็นมาของโครงการฯ เนื่องจากมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาใหม่ อาจยังไม่ทราบเรื่องราวของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
ชัชชาติ กล่าวต่อว่า 2. การ จัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนที่ 2 ซึ่งฝ่ายบริหารได้วิเคราะห์อัตรา ค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 2 จาก หลายแนวทางจนได้ข้อสรุปว่าจัดจะเก็บ 15 บาท เนื่องจากเป็นการจัดเก็บในช่วงระยะสั้น ระหว่างที่รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน และ 3. เรื่องที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) สอบถามความเห็น กทม. เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.