ก่อนหน้านี้ ทหารจากหน่วยอารักขาประธานาธิบดีไนเจอร์ เข้ายึดอำนาจและควบคุมตัว โมฮัมหมัด บาซูม ประธานาธิบดีไนเจอร์ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์ประณามจากนานาชาติ และพร้อมคำขู่จากชาติเพื่อนบ้านในแอฟริกาตะวันตก ว่าพวกเขาพร้อมจะยกทัพรุกรานแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์ อย่างไรก็ดี ผู้นำรัฐประหารไนเจอร์เมินเฉยต่อคำขู่ และประกาศปิดน่านฟ้าไนเจอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 ส.ค.) พร้อมเตือนไม่ให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศ
ในการแถลงผ่านวิดีโอเมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) พันเอกอามาดู อับดรามาเน โฆษกคณะรัฐประหารไนเจอร์ อ้างว่าฝรั่งเศสได้ปล่อยตัว “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” จำนวน 16 คน ซึ่งในขณะนั้นได้รวมตัวกันเพื่อวางแผนโจมตีที่ตั้งทางทหารของไนเจอร์บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดน อับดรามาเนยังอ้างอีกว่า หน่วยกำลังพิทักษ์ชาติถูกโจมตีเมื่อเวลา 06.30 น. ในพื้นที่บูร์กูบูร์กู ห่างจากเหมืองทองคำซามิรา ในภูมิภาคติลลาเบรี ประมาณ 30 กิโลเมตร
โฆษกคณะรัฐประหารไนเจอยังอ้างอีกว่า เครื่องบินทหารของฝรั่งเศสฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าน่านฟ้าของประเทศ “เรากำลังเห็นแผนการที่แท้จริงของการสั่นคลอนประเทศของเรา ซึ่งบงการโดยกองกำลังฝรั่งเศส” อับดรามาเนกล่าว โดยไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพื่อยืนยันข้อกล่าวหาของเขาต่อฝรั่งเศส
กระทรวงกิจการยุโรปและกิจการต่างประเทศของฝรั่งเศส ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวจากคณะรัฐประหารไนเจอร์ และกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของเครื่องบินเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงก่อนหน้านี้กับกองกำลังไนเจอร์ ทางกระทรวงยังกล่าวอีกว่า กองทหารฝรั่งเศสที่ประจำการในไนเจอร์ยังคงประจำการอยู่ที่นั่นตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมย้ำว่า “ไม่มีการโจมตีค่ายในไนเจอร์เกิดขึ้น” ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า “ไม่มีผู้ก่อการร้ายคนใดได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังฝรั่งเศส”
ฝรั่งเศสเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม และยังคงรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับไนเจอร์ ทั้งนี้ มีทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ในไนเจอร์ระหว่าง 1,000 ถึง 1,500 นาย แต่ผู้นำรัฐประหารไนเจอร์ได้ถอนข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศสจำนวน 5 ฉบับ และสั่งระงับการออกอากาศของสำนักข่าวต่างประเทศจากฝรั่งเศสอย่าง France 24 และ RFI
คำกล่าวอ้างของคณะรัฐประหารไนเจอร์ในครั้งนี้ มีขึ้น 1 วันก่อนที่กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) จะเข้าหารือกันในกรุงอาบูจาเพื่อจัดการกับวิกฤตไนเจอร์ ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดครั้งก่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECOWAS เตือนว่าทางองค์กรอาจเข้าแทรกแซงทางทหาร และกำหนดเส้นตายให้วันที่ 6 ส.ค. ที่ทางกลุ่มจะยกกองทัพเข้าไปในไนเจอร์ เพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยและปลดปล่อยบาซูมออกจากการถูกควบคุมตัว อย่างไรก็ดี ไม่มีการปฏิบัติการทางทหารใดๆ ต่อไนเจอร์ที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อพ้นกำหนดเวลาเส้นตายดังกล่าว
โบลา ตีนูบู ประธานกลุ่ม ECOWAS ซึ่งมาจากไนจีเรีย ประเทศสมาชิกที่แข็งแกร่งที่สุดของ ECOWAS เผชิญกับการต่อต้านทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ สำหรับการยกระดับโอกาสในการแทรกแซงทางทหารต่อไนเจอร์ อย่างไรก็ดี มาลีและบูร์กินาฟาโซ ซึ่งเป็นสมาชิก ECOWAS ได้ให้คำมั่นว่าพวกเขาจะสนับสนุนผู้นำการรัฐประหารไนเจอร์ ทั้งนี้ การยึดอำนาจในไนเจอร์ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 9 ในภูมิภาคซาเฮลในรอบ 3 ปี
ที่มา: