ไม่พบผลการค้นหา
จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายอดีตหัวหน้าคสช. ในประเด็นความเสี่ยงที่จะต้องจ่าย ‘ค่าโง่’ เหมืองทองอัครา เพราะใช้มาตรา 44 สั่งปิดจนถูกฟ้อง แม้เรื่องนี้จะเคยอภิปรายไปแล้ว แต่มีการเปิดเอกสารลับจากหลายหน่วยงานยืนยันความผิดพลาดในการตัดสินใจ และแนวโน้ม ‘แพ้คดี’ รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการหลายอย่างที่เสมือนโดนขี่คอจ่ายค่าโง่ทางอ้อมแล้ว แม้ว่าปัจจุบัน อนุญาตโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด

จิราพร ดักคอนายกฯ ก่อนว่า ไม่ต้องโทษรัฐบาลอื่น เพราะแม้จะมีพิธีเปิดเหมืองในปี 2554 แต่อัคราจดทะเบียนในไทยตั้งแต่ 2536 ได้รับอนุมัติทำเหมือง 5 ฉบับตั้งแต่ 2543 ก่อนมีพรรคไทยรักไทย

ประเด็นสำคัญที่จิราพรเปิดโปงคือ ก่อนหัวหน้า คสช.จะใช้ ม. 44 ปิดเหมือง ได้มีหน่วยงานอย่างน้อย 2 แห่งคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้านการใช้ม. 44 โดยระบุว่าเนื่องจากยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองสร้างผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเสี่ยงถูกฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ

จิราพรกล่าวว่า หลังใช้ ม.44 บริษัทคิงสเกต เจ้าของโครงการเหมืองทองอัคราขอเจรจาไกล่เกลี่ย ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ  ในฝ่ายไทยคณะกรรมการระงับข้อพิพาท ซึ่งมีกระทรวงอุตสหากรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า คำสัง คสช.ที่ 72/2559 ที่ทำให้เหมืองต้องยุติโครงการน้นยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ควรเจรจาระงับข้อพิพาทให้มากที่สุด เพราะหากเข้าสู่อนุญาโตตุลาการจะมีโอกาสแพ้คดีสูง แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับฟังความเห็น ยืนยันหนักแน่นว่าไม่สามารถเจรจาได้ จนบริษัทคิงสเกตฟ้องคดีเมื่อ 2 พ.ย.2560

“ยังมีบุคคลลึกลับ 2 คน คนหนึงเป็นรองนายกฯ มีความรู้ด้านกฎหมาย อีกคนเป็นอดีตรัฐมนตรีอุต สาหกรรมที่ตอนนี้ไปเป็นหัวหน้าพรรคที่ตั้งใหม่ ทั้งสองคนไม่มีรายชื่อในคณะกรรมการระงับข้อพิพาท ไม่เคยปรากฏชื่อในรายงานการประชุม แต่เป็นไอ้โม่งรับคำสั่งจากพล.อ.ประยุทธ์ไปนั่งหัวโต๊ะเพื่อครอบงำชี้นำคณะกรรมการ ทำให้คณะกรรมการขาดอิสระในการดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ถ้าเรื่องขึ้นศาลดิฉันก็มีพยานซัดทอดไอ้โม่งสองคนดังกล่าว” จิราพรกล่าว

ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายต่อว่า ภายหลังที่คดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ละความพยายามที่จะระงับความเสียหาย เอกสารชิ้นสำคัญที่นำมาเปิดเผย ร่างขึ้นโดยสำนักงานอัยการสูงสด ความยาว 5 หน้า A4 นำส่งนายกฯ และหัวหน้าคสช. เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา เป็น เอกสารลับ ด่วนที่สุด เรื่อง แนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่าง... กับราชอาณาจักรไทย

ความคิดเห็นในเอกสารอัยการสูงสุดระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะทำงานชุดต่างๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำของอัคราสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สธ.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สารปนเปื้อนที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมาจากเหมืองทองอัครา ขณะที่กระทรวงอตุสาหกรรมก็เคยบอก ครม.ว่า ผลการตรวจสอบในปัจจุบันยังไม่เพียงพอให้นำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี

จิราพรกล่าวว่า ผ่านไป 4 ปีก็ยังหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้ ม.44 ไม่ได้ แถมรัฐบาลมีความคิดสร้างหลักฐานเท็จเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตือนว่าจะสร้างปัญหามากและจะแพ้คดี ทั้งนี้ หากประเทศไทยแพ้คดี จะต้องจ่ายค่าชดเชยราว 720 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

จิราพรอธิบายต่อว่า อัยการสูงสุดเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการคืนสิทธิให้ผู้ประกอบการใน 2 แนวทาง คือ

1.อาศัยข้อกำหนดอำนาจของคณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีมติเป็นอยางอื่น ต่างจากที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. วิธีนี้ยุ่งยากซับซ้อน เกี่ยวข้องกฎหมายหลายฉบับ อาจไม่ทันท่วงที ค่าเสียหายอาจเพิ่มไปเรื่อยๆ มีความเสี่ยงสูงหากต้องเยียวยาเป็นตัวเงิน

2.เสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 72/2559 โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของคำสั่งดังกล่าวที่ระบุว่า เมื่อแน่ชัดแล้วว่าไม่มีกรณีที่การทำเหมืองสร้างผลกระทบ นายกฯ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ชอบที่จะเสนอมายัง คสช. ให้ออกคำสั่ง ม.44 ยกเลิกคำสั่งที่ 72/2559 ซึ่งจะมีผลในทันทีในการคืนสิทธิทั้งหมดให้ผู้ประกอบการ

“อัยการสูงสุดบอกว่าแนวทางนี้มันอาจเยียวยาไม่ทั้งหมด ดังนั้น ในคำสั่งนั้นก็ชอบที่จะกำหนดการเยียวยาเพิ่ม เช่น การขยายเวลาสัมปทานเพิ่มเติม และอัยการสูงสุดเสนอแนะให้ใช้แนวทางที่สอง” จิราพรกล่าว และว่า ต่อให้ตอนนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก ไม่ใช่หัวหน้า คสช. แล้ว แต่มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เปิดช่องให้ใช้คำสั่งนายกฯ หรือ ครม. ยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าวได้

ส.ส.ร้อยเอ็ดยังกล่าวถึง “ใบเสร็จความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว” ว่าแบ่งได้เป็นหลายประการ

1. ค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท จากปี 2560-2564 จำนวน 731 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย 500 กว่าล้าน  

2. ค่าภาคหลวง ซึ่งรัฐจะเก็บจากการประกอบกิจการเหมือง คิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี เมื่อปิดเหมืองมา 5 ปี เท่ากับเงินก้อนนี้ราว 3,000 ล้านบาท

3. ส่วนประเมินไม่ได้ เช่น ภาพลักษณ์นิติรัฐของประเทศเสียหาย

“มีนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายคน บอกว่าถ้าเราแพ้คดี อาจต้องชดใช้เฉียดแสนล้านบาท เทียบเคียงกับคดีเหมืองทองที่เวเนซุเอลา ผู้ชี้ขาดคือคนเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีค่าชดเชยความเสียหายที่คิงสเกตทำกับบริษัทประกันภัย ซึ่งจ่ายค่าความเสี่ยงทางการเมืองให้คิงสเกตแล้วอีก 55 ล้านเหรียญ หรือราว 1,700 ล้านบาท บริษัทประกันภัยมาไล่เบี้ยกับเราได้อีกถ้าเราแพ้คดี” จิราพรกล่าว  

“ตอนนี้เรามีหนี้สาธารณะ 10 ล้านล้าน หนี้ที่ซุกไว้อีกไม่รู้เท่าไหร่ ถ้าเศรษฐกิจไม่โตตามคาดก็หนี้ก็ปริ่มทะลุเพดาน แล้วถ้ามีค่าโง่จากคิงสเกตอีก พล.อ.ประยุทธ์เอาเงินที่ไหนจ่าย ถ้าลุกขึ้นชี้แจงว่า จะยืมเพื่อนมาชดใช้เหมือนที่พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาเพื่อนมา ดิฉันก็จะหยุดอภิปรายทันที”  

 ส.ส.ร้อยเอ็ดกล่าวต่อวา หลังสืบพยานที่สิงคโปร์แล้วเสร็จ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีหลังสือลับที่สุด ด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 มี.ค.2563 รายงานความคืบหน้าข้อพิพาท โดยระบุว่าที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยตั้งข้อสังเกตว่า อนุญาโตตุลาการให้ไทยกับคิงสเกตทำแบบจำลองค่าเสียหาย แสดงว่าต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายแน่นอน โดยค่าชดเชยมี 2 กรณี คือ 1.เหมืองทองอัคราไม่ดำเนินการต่อเลย ไทยต้องจ่าย 2. เหมืองทองอัคราดำเนินการต่อ ไทยก็ต้องจ่ายค่าชดเชย สรุปต้องจ่ายทั้งสิ้น เท่ากับกำลังบอกพล.อ.ประยุทธ์ว่าให้เตรียมเงินไว้ ไทยกำลังจะแพ้คดี นี่จึงเป็นที่มาของการเริ่มเจรจา

27 มิ.ย.2560 ตอนเจราจากับคิงสเกตตอนที่ยังไม่ฟ้อง คิงสเกตมีข้อเรียกร้องการชดเชยทางการเงินกับไทย 14 ข้อ ต่อมาปรับเป็น 16 ข้อ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ปัดตก จนในที่สุดจึงมีการฟ้องร้อง ต่อมา คิงสเกตออกแถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียระบุว่า คิงสเกตและรัฐบาลไทยได้ขอร้องให้อนุญาโตตุลาการขยายเวลาอ่านคำชี้ขาดออกไป เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาท ระหวางนี้ได้เจรจาข้อเสนอจำนวน 11 ข้อ ดูแล้วข้อเรียกร้องเหมือนกับตอนแรก มีแค่บางข้อยุบรวมกัน คิงสเกตยังคงข้อเรียกร้องเดิมในปี 2560 แปลว่า ข้อเรียกร้องที่เคยขอเจรจากับไทยตั้งแต่ 2560 สามารถคุยกันได้เพื่อไมให้เกิดการฟ้องร้อง แต่กลับปล่อยเวลาล่วงเลย จนกำลังจะแพ้คดี

จิราพรกล่าวว่า ใน 11 ข้อนั้น มีการดำเนินการแล้วด้วยในข้อ 2 นั่นคือ เมื่อ 3 พ.ย.64 มีการการต่ออายุคำขอ อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 44 แปลง เกือบ 4 แสนไร่ จากตอนแรกที่ได้แค่ 3 พันกว่าไร่ และอย่าลืมว่ายังมีอาชญาบัตรกำลังรอดำเนินการอีกเกือบ 6 แสนไร่

“เมื่อคิงสเกตรู้ว่าไทยกำลังเพลี้ยงพล้ำ ก็ขึ้นขี่คอ”

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยให้สำรวจเกือบ 4 แสนไร่ ยังไม่ได้ทำให้คิงสเกตยกเลิกการฟ้อง เพราะยังไม่ได้สามารถประกอบกิจการได้ ต้องต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงเพิ่มเมื่อต้นปี 2565 เพื่อให้เหมืองเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง

“อัคราว่าจ้างเอกชนไปซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมือง จะได้เปิดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ค่าใช้จ่าย 500 ล้านบาท กู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง การกู้ยืมเงินนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องต่อไทย รัฐบาลเปิดทางให้คิงเกตเข้ากู้เงินนี้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายก้อนนี้จะตกเป็นภาระไทยหรือไม่”  

“ถ้าการให้สิทธิสำรวจและต่ออายุเหมืองเหล่านี้เป็นขั้นตอนปกติตามที่กล่าวอ้าง แล้วเหตุใดข้อเรียกร้องเหล่านี้จึงปรากฏในจดหมายที่ส่งถึงอนุญาโตตุลาการ นั่นเท่ากับว่า การที่เราทำตามแต่ละรายการ เท่ากับเอาทรัพย์สมบัติประเทศไปชดเชยค่าเสียหายแลกกับการไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน”  

นอกจากนี้จิราพรยังย้ำว่า คิงสเกตยังข้อเรียกร้องที่ร้ายแรง เช่น ขอให้ไทยแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นที่ค้างอยู่ทั้งหมด เช่น ให้ ป.ป.ช.ยุติการสืบสวนคดีอัครา 2 คดี ยุติคดีดีเอสไอ 3 คดี ยุติการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่ง ยุติคดีของ ป.ป.ง.ที่คิดค่าเสียหายจากทรัพยากรธรรมชาติ ยุติคดีของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ไทยอาจประวิงเวลาไม่ให้คดีต่างๆ คืบหน้า ดังทีดีเอสไอเคยแจ้งกับ กมธ.ว่า ได้ขอข้อมูลกรมเหมืองแร่ แต่จนวันนี้ก็ยังไม่ส่งข้อมูลใดๆ ให้ดีเอสไอเพื่อใช้ดำเนินคดีกับคิงสเกตเลย

“เขาต่อรองถึงขั้นขอเคลียร์คดีต่างๆ โดยหลักสากลทั่วไปจะไม่มีการต่อรองแบบนี้ โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม เขาไม่กล้าล้มคดีให้ แต่ที่เขากล้า เพราะเขาเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ล้มคดีได้หมด เท่ากับลากพล.อ.ประยุทธ์ไปประจานว่าเป็นเผด็จการ เขาย้อนเกล็ดอย่างเจ็บแสบ ถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก เพราะประเทศที่ได้รับการต่อรองให้ผู้นำล้มคดี มีแต่ประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้น”  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นชี้แจงหลายเรื่องในช่วงค่ำ หนึ่งในนั้นคือกรณีเหมืองทองอัครา โดยตอบเพียงสั้นๆ ว่า ข้อพิพาทอยูในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งแตกต่างกับศาลอื่นๆ เขาต้องให้เจราจากัน ต้องมาดูว่าตรงไหนเข้าใจตรงกันหรือไม่ ขอให้ระมัดระวังถึงที่สุดในการกล่าวถึง ที่มาของคำสั่ง คสช.มาจากกระทรวง โดยสั่งให้ระงับไปก่อนแล้วจนกว่าจะปรับปรุง ไม่ได้ปิดเฉพาะของคิงสเกต ปิดทุกอย่าง แต่เขาไม่ได้ทำเวลานั้น หลายๆ เรื่องก็ต้องใช้กระบวนการแบบนี้ ก็มีค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม คือผู้ชี้แจงตัวจริง โดยระบุว่า  การอภิปรายของจิราพรทำให้ประชาชนเข้าใจว่า นายกฯ ดำริให้ใช้ ม.44 สั่งให้อัคราหยุดประกอบกิจการ แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตเสนอ ให้นายกฯ ใช้ ม.44 โดยไม่ใช่กฎหมายทั่วไป สาเหตุที่เสนอเช่นนั้นเป็นเพราะมีการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ ก.ค.2557 ว่า ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ พล.อ.ประยุทธ์จึงให้คุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เก็บตัวอย่างเลือดประชาชนรอบเหมือง 600 คน ซึ่ง ร้อยละ 70 พบโลหะหนัก แมงกานีส อะเซนิก ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ขณะเดียวกันก็มีการชุมนุมต่อต้านและสนับสนุนในพื้นที่ตลอด ปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ 4 กระทรวง อุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพกรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเร่งแก้ไขปัญหา ต่อมา 29 เม.ย.59 รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวงหารือร่วมกันสรุปว่า แม้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ผลประทบด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ เกิดจากอัคราหรือไม่ แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และแก้ปัญหาความแตกแยก จึงมีมติร่วมกันให้ยุติการอนุญาตอาชบัตรพิเศษสำรวจแร่ และการต่ออายุประทานบัตร แต่ให้ต่ออายุโลหะกรรมถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้เอาแร่ทองคำไปใช้ประโยชน์ และให้เร่งปิดเหมืองและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ใช้ม.44 เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด

ส่วนการอ้างว่าเห็นเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์-การต่างประเทศทักท้วง แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับฟังนั้น เป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว เอกสารดังกล่าวมีข้อความที่บอกด้วยว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้ ม.44 การบังคับใช้จะต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

ประเด็นที่บอกว่า บริษัททนายฝ่ายไทยประเมินว่าฝ่ายไทยแพ้คดีแน่นอน เรื่องนี้ไม่จริง หนังสือของบริษัทที่อ้างถึงนั้น เป็นหนังสือที่ตนเสนอให้ ครม.เพื่อรายงานสถานการณ์การต่อสู้คดี ในหนังสือนั้นทนายฝ่ายไทยประเมินว่า ฝ่ายไทยมีโอกาสชนะคดี 66% มีโอกาสแพ้คดี 34% ไม่ใช้แพ้คดีแน่นอนตามที่อภิปราย

ส่วนข้อเรียกร้อง 16 ข้อของคิงสเกตรวมถึงการขออนุญาตต่างๆ ที่ฝ่ายไทยไม่ยอมอนุญาต แต่พอหลังจากไปให้การในคดีที่สิงคโปร์ และอนุญาโตตุลาการแนะนำให้สองฝ่ายเจรจากัน ฝ่ายไทยกลับมาดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ ให้อัครา แสดงว่าไทยรู้ว่าจะแพ้คดี จึงทำเพื่อแลกเปลี่ยนถอนฟ้อง ขอชี้แจงว่ากฎหมายแร่ที่บังคับใช้ในอดีตมีความล้าสมัย ต่อมาปี 2560 มีการแก้ไขกฎหมายแร่ และออกนโยบายทองคำ เพื่อดูแลด้านสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การอนุญาตต่างๆ จึงสามารถดำเนินการต่อได้ตั้งแต่ปลายปี 2560 แต่ที่คิงสเกตยังไม่กลับมาดำเนินคำขอต่างๆ เพราะกลัวเสียรูปคดีของฝ่ายตนเอง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางคิงสเกตเห็นข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยก็มีความเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่-นโยายทองคำ บริษัทอัคราจึงมาทำคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลงจำนวนเกือบ 4 แสนไร่ที่เคยยื่นไว้ เป็นการกลับมาดำเนินคำขอก่อนอนุญาโตตุลาการจะแนะนำให้สองฝ่ายเจรจากันเสียอีก ส่วนคำขออาชญาบัตรแร่อีก 6 แสนกว่าไร่ ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ดำเนินเรื่องต่อและยังไม่ได้อนุญาต หากบริษัทมาเดินเรื่องต่อ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องได้อนุญาต ต้องดูว่าแผนการสำรวจของบริษัทมีความเหมาะสมหรือไม่ หากมีการต่อต้านจากชุมชนในพืน้ที่ก็ไม่สามารถอนุญาตได้เช่นกัน

กรณีอ้างว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือทักท้วงและเสนอให้ยกเลิกคำสั่งตามม.44 แต่นายกฯ ไม่ฟังนั้น ขอชี้แจงว่าหนังสือดังกล่าว กระทรวงอุตไม่เคยได้รับ แต่เท่าที่เห็นรูปแบบหนังสือตามสไลด์ที่นำเสนอในการอภิปราย น่าจะเป็นหนังสือที่ส่งกันภายในหน่วยงาน เป็นหนังสือบันทึกข้อความ ไม่ใช่หนังสือทางการออกจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะมิเช่นนั้นต้องมีตราครุฑตรงกลาง อีกทั้งเอกสารนั้นส่งถึงประธานคณะทำงาน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าคณะทำงานใด จึงสันนิษฐานว่า เป็นเพียงหนังสือหารือความเห็นภายในหน่วยงานซึ่งอาจไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ คณะกรรมการระงับข้อพิพาทก็มีผู้แทนอัยการสูงสุดด้วย ไม่เคยเสอนยกเลิกคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด

ส่วนไอ้โม่ง 2 คนคาดว่า คือ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม กับ อดีตรมว.อุตสหากรรม อุตตม สาวยายน การที่มีสองคนให้คำปรึกษา แนะนำ ที่เป็นประโยชน์ก็เป็นผลดีต่อการดำเนินการของฝ่ายไทย ซึ่งไม่ได้แทรกแซงการทำงานคณะกรรมการระงับข้อพิพาทแต่อย่างใด