ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา' นักวิชาการนิติศาสตร์ มธ. ย้ำแนวทางปฏิรูปตำรวจ ชี้ต้องยึดโยงกับประชาชน ใช้จำนวนความผิดที่ลดลงประเมินผลงานตำรวจ พร้อมหนุนแยกคุมขัง ‘ผู้ต้องหา-นักโทษ‘ ป้องกันคุกล้น มองเคส ‘ลุงเปี๊ยก‘ แพะฆ่าป้าบัวผัน ละเมิดกฎหมาย-พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ อัดศาล ไม่ตั้งคำถามก่อนออกหมายฝากขัง

วันที่ 22 ม.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มาก และเห็นผลเร็ว กรณีศึกษา ‘ลุงเปี๊ยก‘ จากการตกเป็นแพะรับบาป และถูกทรมานบังคับให้สารภาพคดีฆ่าป้าบัวผัน 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทยเราทำกันมามาก ทั้งการแก้กฎหมาย และออกระเบียบต่างๆ แต่กลับไม่เห็นผล ตัวอย่างสิ่งที่ทำน้อย แต่ได้มากคือ ’ทะเบียนประวัติอาชญากร’ เพราะก่อนหน้านี้ทุกสถานีตำรวจเป็นสถานที่ผลิตอาชญากร เพราะแม้ว่า ผู้ต้องหาจะไม่ถูกอัยการสั่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้องก็จะไม่มีการลบทะเบียนประวัติอาชญากร จึงทำให้ปัจจุบันเรามีอาชญากรทั้งประเทศ 13,500,000 คน 

ขณะที่กรณีของ ‘ลุงเปี๊ยก’ ที่ท้ายที่สุดตำรวจยอมรับว่า จำผิดตัว และไม่ได้เป็นคนลงมือฆ่าป้าบัวผัน แต่กลับมีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพไปแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า ตำรวจไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามที่รัฐธรรมนูญ ม.29 วรรค 2 ระบุว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่ากระทำความผิดไม่ได้ 

แต่การสอบสวน ลุงเปี๊ยก นั้น ตำรวจกลับใช้กระบวนการยุติธรรมมุ่งเป้าไปสู่การยอมรับให้สารภาพ เพราะตำรวจเชื่อไปแล้วว่า ลุงเปี๊ยกผิด และทำทุกอย่างให้สารภาพว่า เป็นคนฆ่าป้าบัวผัน นั่นจึงเป็นการละเมิดกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 

อีกทั้งกระบวนการฝากขังผู้ต้องหาอย่าง ลุงเปี๊ยก ในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. แต่ได้รับการปล่อยตัวในวันจันทร์ ทั้งที่ตอนบ่ายของวันที่ 13 ม.ค. ตำรวจะแจ้งแล้วว่า จับผิดตัว ตลอดจนศาลไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ ออกหมายขังโดยไม่ตั้งคำถาม หรือตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่ไม่เป็นไปตาม ม.29 วรรค 2 และการละเมิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ 

ขณะที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา และกรมราชทัณฑ์ ต่างคนต่างทำงาน ทั้งที่มีกระทรวงยุติธรรม ทำให้ไม่มีการบูรณาการ และไม่มีการประเมินผลกระบวนการยุติธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน จนก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายโดยตำรวจอยู่เรื่อยมา 

ผศ.ดร.ปริญญา เสนอ 4 แนวทางในการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทย ดังนี้ 

(1) เปลี่ยนตำรวจไทยให้มีแนวคิดยึดโยงประชาชน และเคารพกฎหมาย โดยอาจจะมีการฝึกอบรมหลักสูตร Citizen Oriented เป็นหลักสูตรระยะสั้น 

(2) เปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลจากเดิม เอาผลงานการจับกุมเปลี่ยนเป็น ตามหลักการ Citizen Oriented ให้เป็นเป้าหมายลดอาชญากรรมในพื้นที่ให้มาก มีจำนวนการจับกุมที่น้อยลง เพราะระบบการประเมินวัดจากปริมาณการจับกุม และจำนวนคดีได้สร้างความคลาดเคลื่อนทางกฎหมายทำให้เกิดการล่อซื้อ 

(3) ปรับหลักเกณฑ์พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ต้องนำหลักการ Citizen Oriented และการลดอาชญากรรมในพื้นที่มาเป็นข้อพิจารณา ซึ่งข้อนี้สามารถทำได้ทันที ป้องกันเจ้าหน้าที่ละเมิดกฎหมายได้จริงจัง

(4) ยกเลิกการนำผู้ต้องหา และจำเลยขังไว้ในเรือนจำ เนื่องจากปัจจุบัน จากรายงานสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า มีนักโทษอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 276,000 คน ถือเป็นอันดับ 8 ของโลก แต่ถ้าหากคิดตามสัดส่วนประชากรจะถือเป็นอันดับประมาณ 3-4 ของโลก อีกทั้งในจำนวนทั้งหมดนั้น มีผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณายังไม่สิ้นสุดกว่า 54,530 คน ดังนั้นหากยึดตาม ม.89/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อร้องขอให้คุมขังที่อื่นได้ เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก 

ขณะเดียวกันในจำนวน 276,000 ราย ยังมี ‘ผู้ต้องกักขัง’ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าปรับ แต่ไม่มีเงินจ่าย จำนวนกว่า 6,099 คน เลยต้องถูกนำไปกักขังแทน นั่นหมายความว่า คุกมีไว้ขังคนจน ดังนั้นจึงสามารถให้ผู้ต้องกักขังเหล่านั้นไปทำงานบริการสังคมแทนการจ่ายค่าปรับตาม ม.30/1 ของประมวลกฎหมายอาญาฯ ได้ 

(5) ปรับกระบวนการยุติธรรมไทยให้สามารถตรวจสอบได้ มีหลักการบูรณาการร่วมกัน และสามารถประเมินผล ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรม พ.ศ. 2559 อย่างจริงจัง