ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนนักศึกษา 12 มหาวิทยาลัย ยื่น กมธ. ขอแก้เงื่อนไขกู้ กยศ. ปมทำกิจกรรมสาธารณะ 36 ชั่วโมง ชี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

วันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ..... คนที่หก และคณะ รับยื่นหนังสือจาก ฐิรวัฒน์ แทบทับ ตัวแทนนิสิตนักศึกษา 12 มหาวิทยาลัย เรื่อง ขอให้พิจารณาแก้ไขการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนและนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

สืบเนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา เป็นกองทุนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนเพื่อการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม หากแต่ในกระบวนการให้กู้ยืมของ กยศ. นั้น คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนและนักศึกษา ให้นักเรียนและนักศึกษาจำเป็นต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะไม่ต่ำกว่าปีละ 36 ชั่วโมง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะระหว่างปีการศึกษาก่อนหน้าก่อนปีการศึกษาที่จะขอกู้ยืมเงิน โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมโครงการ กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม หรือสาธารณะที่น่าเชื่อถือตามชั่วโมงที่กำหนด 

ตามด้วยเงื่อนไขดังกล่าว นักเรียนและนักศึกษาย่อมสามารถนำเวลาที่มีค่าเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าสามารถใช้เวลาขัดเกลาทักษะฝีมือ หรือสั่งสมประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ อันเหมาะสมแก่คุณวุฒิ และวัยวุฒิของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต อีกทั้งโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังจำกัดการทำกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษา แต่ด้วยระเบียบดังกล่าวยังคงบังคับให้ผู้กู้เงินกองทุนยังต้องทำกิจกรรมอยู่ นักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการที่จะเข้าถึงการศึกษาจึงต้องทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งชั่วโมงจิตอาสาโดยมิได้คำนึงถึงความหมายที่แท้จริง ซ้ำยังมีการประเมินค่าและตีราคาคำว่าจิตอาสาให้ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ นักเรียนและนักศึกษา ย่อมได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยในกำกับของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ให้นักเรียนและนักศึกษาได้เป็นผู้ที่มีลักษณะอันพึงประสงค์แก่การเป็นพลเมืองที่ดี มีจิตสาธารณะแก่สังคมแน่นอนแล้ว ดังนั้น การทำจิตสาธารณะย่อมเป็นสิ่งที่ นิสิต นักศึกษา พึงกระทำได้เป็นทั่วไป แม้ปราศจากเงื่อนไขหรือข้อบังคับ นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แต่ละครอบครัวของนิสิตนักศึกษา ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาประกอบกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมีการขึ้นราคาสินค้าทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ในฐานะองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนนิสิตและนักศึกษา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษา และมีข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ดังต่อไปนี้

1. ขอให้คณะ กมธ. พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยกำหนดให้ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันซึ่งผลประโยชน์ระหว่างกองทุนกับผู้ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้กู้ เช่น การทำกิจกรรมจิตสาธารณะเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติ เป็นต้น

2. ขอให้คณะ กมธ.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ในหมวด 2 คณะกรรมการ โดยขอให้พิจารณาการกำหนดให้มีการตั้ง คณะอนุกรรมการเพิ่มเติมมาอีกหนึ่งคณะ โดยจะต้องเป็นบุคคลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่น ประธานสภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา นายกสโมสรนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนฯ จากการสรรหาโดยคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือจากองค์กรอื่นในกำกับของรัฐในฐานะผู้แทน เช่น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ให้มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็นในการประชุมที่เกี่ยวเนื่องกับการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศในการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนและนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ และสามารถยื่นข้อร้องเรียนหรือเสนอให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีต่าง ๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างกองทุนฯ และผู้กู้ได้ 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า คณะ กมธ.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการศึกษาถือเป็นทางออกของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ณ ปัจจุบัน มีมากถึง 6.1 ล้านคนและมีผู้ค้ำประกันอีกจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มผู้กู้ยืมเงินเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างอนาคตของประเทศ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาในชั้น กมธ. อย่างรอบคอบต่อไป

ด้าน ผ่องศรี ธาราภูมิ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้คณะ กมธ. กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในมาตราสำคัญ คือมาตรา 44 ว่าด้วยเรื่องของเงินอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งทาง กมธ. ได้มีการศึกษาติดตามได้รับฟังความคิดเห็นอย่างคืบหน้าสำหรับประเด็นที่นักศึกษาได้มายื่นในวันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและ กมธ. ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยจะนำเอกสารนี้ไปยื่นต่อ กมธ. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป