วันที่ 18 ส.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา อมรัตน์ โชตปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เหตุคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มีมติลงโทษผู้พิพากษาศาลฎีกา วิชิต ลีธรรมชโย หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ด้วยการตัดเงินเดือน และมีมติเอกฉันท์ว่าไม่เหมาะสมเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ผิดปกติจากประเพณีปฏิบัติของศาลยุติธรรม เนื่องจากปกติการลงโทษในชั้นอนุกรรมการตุลาการ เมื่อมาถึงชั้น ก.ต. จะไม่มีการลงโทษในขั้นที่รุนแรงกว่า จะมีแต่เท่ากันหรืออ่อนกว่า
โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อร้องเรียนในเรื่องนี้ เหตุสืบเนื่องจาก วิชิต การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและถูกร้องเรียน ในชั้นคณะกรรมการสอบสวน และชั้น อนุ ก.ต. มีมติเอกฉันท์ว่าเป็นความผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง ยังเหมาะสมเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เมื่อมาสู่ชั้น ก.ต. ก็มีความเห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงเช่นเดียวกัน แต่กลับลงโทษตัดเงินเดือน และนำเอาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนมากล่าวหาว่าล้มเจ้า เพื่อเป็นผลร้าย ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ว่ามีทัศนคติไม่เหมาะสมเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ถือว่ามตินี้ย้อนแย้งในตัวเอง ทำให้ วิชิต ต้องเกษียณอายุราชการในปีนี้ แทนที่จะได้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนอายุ 70 ปี
อมรัตน์ ระบุว่า ตนเมื่อได้รับทราบว่าแม้แต่ตุลาการในกระบวนการยุติธรรมยังได้รับการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมเอง จะเหลืออะไรให้ประชาชนเป็นที่พึ่งได้อีก โดยความคืบหน้าขณะนี้ กรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และส่งต่อไปยัง ก.ต. ให้ทำความเห็น พร้อมอธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของการตัดสินที่ไม่ปกติมาโดยด่วน เนื่องจากช่วงนี้การเมืองไทยอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ และการใช้สิทธิชุมนุมก็ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ วิชิต ยังเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาต่อเนื่องกันมา 20 ปีแล้ว ถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาลฎีกา และยังเป็นตุลาการศาลฏีกาที่เขียนคำพิพากษาศาลฎีกามากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งสำคัญเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา ทั้งยังมีความอาวุโสเป็นลำดับที่ 9 ของศาลฎีกา เพื่อกอบกู้ศรัทธาประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทย จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด