25 ก.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยมี สมชาย แสวงการ สว. เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ วาระพิจารณาติดตามการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ และได้เชิญผู้ชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
- ผู้แทนผู้บัญการตำรวจแห่งชาติ
- ผู้แทนสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ
- ผู้แทนกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ผู้แทนกรมราชทัณฑ์
- ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ
- ผู้แทนทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
หลังจากกรรมาธิการได้ซักถามผู้ชี้แจงเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง เกี่ยวกับมาตรการดูแลนายทักษิณ ชินวัตร หลังได้รับพระราชทานลดโทษว่าการดูแลอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่ โดยปิดเป็นการประชุมลับ สมชาย แสวงการ แถลงผลการประชุมว่า ได้รับคำชี้แจงที่ดีตามสมควรจากหน่วยงาน ได้แก่
1.) ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ารับการตรวจรักษาโดยเป็นนักโทษแดน 7 และส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ได้รับคำยืนยันว่าตั้งแต่ 22 ส.ค. ถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในความดูแลกรมราชทัณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เข้าเวรผลัดและตำรวจควบคุมอยู่
2.) อาการป่วยต่างๆ มี 4 โรค มีผลรับรองทางการแพทย์จากสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่กรรมาธิการยังไม่ได้รับข้อมูลการเข้ารับผ่าตัดหลายโรค เนื่องด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะใช้สิทธิรักษา และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา แต่กรรมาธิการเห็นว่าเมื่อสังคมสงสัยจึงมีข้อเสนอแนะง่าหากแพทย์ใหญ่และตำรวจอธิบายได้ เชื่อว่าสังคมจะรับได้
3.) เมื่อ ทักษิณ ได้รับการผ่าตัดจนมีอาการเป็นที่น่าพอใจ ได้รับคำยืนยันจากโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์สามารถรับผู้ป่วยต่อตามกระบวนการ และเมื่อหายป่วยก็กลับไปอยู่ในเรือนจำได้ตามขั้นตอนปกติ แต่ต้องดูอาการของ ทักษิณ ว่าอยู่ในระดับไหนในการรักษา กรรมาธิการหวังจะได้รับคำชี้แจงในอนาคตอันใกล้
4.จากคำชี้แจงของหน่วยงาน กรณี ทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ปีแล้ว จะได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกหรือไม่ โดยมีหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ว่าจะต้องอยู่ในเรือนจำไม่น้อยกว่า 4 เดือน และมีการปรับระดับนักโทษจากชั้นกลางเป็นชั้นดีเยี่ยมแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับพระราชทานอภัยโทษในวาระโอกาสสำคัญ เช่นวันที่ 5 ธ.ค. นี้ แต่ ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เพราะหากนับ 120 วัน ก็จะครบรอบในวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่งผ่านพ้นวันสำคัญ 5 ธ.ค. ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ค้างอยู่ที่ 2 หน่วยงานซึ่งจะไปเรียนต่อผู้บังคับบัญชาและมาชี้แจงเพิ่มครั้งต่อไปเกี่ยวกับอาการและการรักษา
ส่วนการพักโทษนั้น มีหลักเกณฑ์คือ เป็นผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว ซึ่ง ทักษิณ อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังชี้แจงว่าไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็มในระหว่างการพักโทษ เนื่องจากไม่มีพฤติกรรมหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และอาจจำจัดพื้นที่ที่อยู่ เช่น ที่บ้าน ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถเดินทางนอกราชอาณาจักรได้
ทั้งนี้ ในห้วงเวลา 6 เดือนที่จะเข้าเกณฑ์พักโทษนั้น จะรวมเวลาที่อยู่ในช่วงการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจด้วย
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ค้างอยู่ที่ 2 หน่วยงานซึ่งจะไปเรียนต่อผู้บังคับบัญชาและมาชี้แจงเพิ่มครั้งต่อไปเกี่ยวกับอาการและการรักษา ซึ่งคาดว่าจะนัดประชุมกรรมาธิการอีกครั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้า
สมชาย ยังเผยว่ามีหลายคำถามที่ทางแพทย์ตอบไม่ได้ แต่มองว่าหากมีการชี้ถึงอาการป่วยหนักของ ทักษิณ จริง สังคมจะสามารถยอมรับได้ แม้จะต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลจนครบ 6 เดือนที่เป็นเกณฑ์เวลาขอพักโทษ ถึงอย่างไรเรื่องอาการป่วยต้องให้แพทย์เป็นผู้ชี้แจงโดยได้รับความยินยอมจากญาติผู้ป่วย
กรรมาธิการฯ ยังยืนยันว่าดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาและไม่มีการบีบคั้นให้ตอบ พร้อมมองว่ากรณีของ ทักษิณ จะเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ต้องการให้เกิดกระแสกระเพื่อมจนกลายเป็นข้อสงสัยหรือคลื่นใต้น้ำ จะทำให้เกิดความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม