วิกเตอร์ เวสโคโว นักดำน้ำชาวอเมริกันขับเรือดำน้ำลึกถึง 35,849 ฟุต (10.926 กิโลเมตร) บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก โดยเขาใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมงกว่าจะดำลงไปถึง ทำลายสถิติที่เคยมีคนดำลงไปลึกที่สุดที่ประมาณ 35,813 (10.915 กิโลเมตร)
เวสโคโว กล่าวว่า เขาและทีมงานตื่นเต้นกันมากจนแทบอธิบายไม่ถูก เรือดำน้ำลำนี้ เรือแม่ของมัน และทีมสำรวจที่มีพรสวรรค์มากได้นำเทคโนโลยีทางทะเลไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างมากด้วยการดำน้ำลงไปยังบริเวณที่ลึกที่สุดและยากลำบากที่สุดของมหาสมุทรอย่างรวดเร็วและลงไปถึง 5 ครั้ง
การเดินทางครั้งนี้ถูกบันทึกไว้เพื่อไปเผยแพร่ในรายการ Deep Planet ตอน Five Deeps expedition ที่เขาจะไปสำรวจจุดที่ลึกที่สุดในทั้ง 5 มหาสมุทร ซึ่งจะฉายบนช่อง Discovery ภายในปีนี้
เวสโคโวกล่าวว่า เขาได้พบสัตว์ทะเลใหม่ๆ ที่ก้นสมุทร ทีมงานของเขาเชื่อว่า พวกเขาค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใกล้เคียงกับกุ้งทั้งหมด 4 สายพันธุ์ หนอนช้อน ปลาหอยทากสีชมพู รวมถึงหินโผล่หลากสี และสิ่งไม่มีชีวิตใต้ทะเลลึกอีกจำนวนมาก นอกเหนือจากสัตว์ใต้ทะเลลึก เวสโคโวยังพบสิ่งที่ไม่เคยพบในการสำรวจใต้ทะเลลึกครั้งก่อนๆ นั่นคือ มลภาวะ เขาพบถุงพลาสติกและพลาสติกห่อลูกอมพบพื้นทะเลลึกด้วย
นักวิทยาศาสตร์วางแผนว่าจะเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนามาตรวจสอบว่าพวกมันมีไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดจิ๋วปนเปื้อนอยู่หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาล่าสุดพบว่า สัตว์ทะเลต่างได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกและมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่แม้จะอาศัยอยู่ในน้ำลึก
การดำลงไปที่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1960 หลังจากที่เรือเอก ดอน วอล์ช ทหารเรือสหรัฐฯ และฌาคส์ พิกการ์ด วิศวกรชาวสวิสเดินทางไปสำรวจใต้ทะเลลึกในมหาสมุทรแปซิฟิก ความกดดันที่สูงมากและความมืดทำให้การเดินทางไปสำรวจใต้ทะเลลึกและถ่ายภาพกลับมาเป็นเรื่องยากมาก โดยความกดดันบริเวณพื้นมหาสมุทรเทียบเท่ากับการนำเครื่องบินจัมโบเจ็ท 50 ลำมาวางทับมนุษย์