ไม่พบผลการค้นหา
จับตาการประชุม ครม. เช้าวันที่ 28 เม.ย. กับปมการนำผลการศึกษากรอบความตกลง CPTPP จะได้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หรือไม่ เมื่อรองนายกฯ ที่เป็น รมต.เจ้ากระทรวงบอกขอถอนวาระ แต่ทีมงานทำตามมติ คกก.นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีรองนายกฯ อีกคนเป็นประธานสั่งการให้จัดทำ ก่อนจะตัดสินใจไปทางใด ลองฟังความฝ่ายข้าราชการที่ดูแลงานนี้ และเล่าถึงผลการศึกษาก่อนนำเรื่องเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

เสียงคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ดังระงมไปทั่วโซเชียลมีเดีย โดยมีปมเสียงคัดค้านแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมยา และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นั้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำการศึกษาข้อตกลงก่อนนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก CPTPP ตั้งโต๊ะชี้แจง อ้างถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาและระดมความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยล่าสุด ได้ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอ ครม. 

ด้วยเหตุผลว่า "ไทยจำเป็นต้องหาข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ เพื่อสร้างแต้มต่อและน่าสนใจแก่การค้าการลงทุน ไม่ตกขบวนห่วงโซ่การผลิตโลก สร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นางอรมน กล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศย้ำว่า การทำหนังสือถึง ครม. เป็นเพียงการขอให้ประเทศไทยไปเคาะประตู เป็นการแสดงเจตจำนงไปเจรจา CPTPP อีกทั้งสิ่งที่ดำเนินการในวันนี้ คือการส่งการบ้านตามมติ กนศ.


กางตัวเลขการค้าการลงทุน-โอกาสที่ไทยจะสูญเสีย

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นำเสนอผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว (จีดีพี) ร้อยละ 0.12 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.48 แสนล้านบาท 

แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวให้ลดลงร้อยละ 0.25 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.66 หมื่นล้านบาท กระทบการลงทุนร้อยละ 0.49 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.42 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก

โดยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น เวียดนาม และ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว พบว่า ตั้งแต่เวียดนามหาข้อสรุปใน CPTPP ได้ตั้งแต่ปี 2558 พบว่า ในปี 2562 การส่งออกของเวียดนามไปกลุ่มประเทศ CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 สิงคโปร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.92 ขณะที่การส่งออกของไทยในประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.23 ส่วนเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้า (FDI Inflow) เวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 2562 มีมูลค่า 5.25 แสนล้านบาท และ 1.98 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ไทยมีมูลค่าเงินลงทุนไหลเข้าเพียง 2.79 แสนล้านบาท 

ทั้งที่การค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสมาชิก CPTPP มาตลอด โดยในปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 9,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.97 แสนล้านบาท และในไตรมาส 1/2563 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.21 แสนล้านบาท 

"ดังนั้น จึงถือว่า CPTPP เป็นตลาดที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน" นางอรมน กล่าว

กรมเจราจาการค้า
  • อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


แจง 3 ปมข้อกังวลภาคประชาสังคม -นักวิชาการ

ส่วนประเด็นข้อกังวลต่างๆ ของภาคประชาสังคมและภาควิชาการ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบายว่า ความกังวลที่ว่า CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขอชี้แจงว่า

หนึ่ง ความตกลงนี้ นี้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดด้านข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาการเจรจาความตกลง CPTPP ยังไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิกที่เหลืออยู่ก็ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้ 

นอกจากนี้ ในข้อบทของความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.46 กำหนดให้สมาชิกสมารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี 

รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP

สอง เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชและการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พืชเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม

สาม สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลง CPTPP เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัว 25 ปี  

ข้าว.jpg


"ข้อกังวลของเกษตรกร เราพร้อมจะชี้แจงพูดคุย เพราะเวลาเราไปเจรจา เราไปในนามของประเทศไทย อีกทั้งการเจรจาระหว่างประเทศโดยเฉพาะในวงใหญ่อย่างนี้ ก็ต้องใช้เวลา" นางอรมน กล่าว


ยืนยันในความตกลงมีเวลาให้สมาชิกปรับตัวสูงสุด 21 ปี

ด้านการบริการและการลงทุน จากผลการศึกษาชี้ว่า ธุรกิจที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมใน CPTPP ได้แก่ สาธารณสุข ก่อสร้าง ท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยต้องปรับตัว เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าต้นทุนต่ำ 

อย่างไรก็ตาม ในความตกลงฯ จะมีเวลาให้ปรับตัวเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ขอเวลาปรับตัวสูงสุด 21 ปี 

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเร่งพัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และอาจนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตของไทยมากขึ้น

อีกทั้ง กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับการเตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร เอสเอ็มอี และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงโดยอยู่ระหว่างการศึกษาและหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามาถจัดตั้งกองทุน FTA ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความต้องการต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ แม้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีท่าทีขอถอนวาระการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ในเช้าวันที่ 28 เม.ย. นี้ เนื่องจากเห็นถึงความกังวลของหลายภาคส่วนและอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน แล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำตามมติ กนศ.ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น หลังจากนี้ เรื่องนี้ก็จะวนกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ไม่วันใดก็วันหนึ่งอยู่ดี ตราบใดที่ทิศทางการค้าระหว่างประเทศ ยังมุ่งที่การรวมกลุ่มภาคีนานาประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงการทำความเข้าใจต่อข้อบทและประเด็นการเจรจาว่า 'แลกมาด้วยอะไร' เมื่อในเวทีการค้าไม่มีใครได้ทั้งหมด แต่ประเทศไทยก็ไม่ควรจะเสียสิ่งที่เป็นจุดเด่นข้อแข็งของตัวเองจากความไม่รู้ หรือการประเมินที่ไม่รอบด้านเช่นกัน    

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :