รายงานของนิกเคอิ ชี้ว่าไม่ว่าจะมองไปทางไหน สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจของโลก ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อประเทศคู่ค้าทั้งของจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากีบจีนค่อนข้างมาก แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการหยุดความตึงเครียดทางการค้าเป็นเวลา 90 วัน แต่ข้อพิพาทยังคงเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของอาเซียนปีหน้า
ธนาคารพาเหรดวิเคราะห์จีดีพีหดตัว
ขณะที่ ธนาคารต่างประเทศพาเหรดออกมาคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีหน้า เริ่มจากธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ ที่ออกมาคาดการณ์ว่า จีดีพีรวมของ 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และ ไทย จะเติบโตลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2562 จากปีนี้เติบโตร้อยละ 5.0 และปีที่ผ่านมาเติบโตร้อยละ 5.1
"ท่ามกลางอุปสรรคทั้งจากสงครามการค้า การหดตัวของเศรษฐกิจจีน และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดมองไว้ ทำให้รายการปัจจัยเสี่ยงมีมากจนพูดไม่หมด" โมฮัมเหม็ด เฟียส นากูธาร์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ กล่าว
ด้านเซเลนา หลิง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และวิจัยเงินทุน ธนาคารโอซีบีซี ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญที่สุดคือมาตรการปกป้องทางการค้า เธอเสริมว่า แม้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะบรรเทาลงบ้าง แต่มาตรการผลิตในประเทศจีน 2025 (Made in China 2025) และแผนการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจ ก็ไม่ได้หายไปไหนในเวลาเร็ววัน
ธนาคารโอซีบีซีมองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จะหดตัวลงในปี 2562
ด้านสุเรช ทันเทีย รองประธานเครดิตสวิส ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การยุติการขึ้นภาษี 90 วันนั้นเป็น "ความโล่งใจ" และ แน่นอนว่าคุณจะเห็นความเสี่ยงที่ลดลง แต่ความกังวลของนักลงทุนยังคงวนเวียนอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเพราะการพักรบครั้งนี้เป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
โดยเฉพาะประเด็นด้านการเมืองจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียคตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมาก เครดิตสวิสกล่าวว่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน จะกลับเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ยังมีความคลุมเครืออยู่มากในรายละเอียดการจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่ อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน ซึ่งเครดิตสวิสและธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ เชื่อว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด จะยังคงรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ขณะที่ธนาคารโอซีบีซีชี้ว่าการหาเสียงเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นพร้อมเตือนว่าเมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งตลาดอาจะมีความผันผวนและไม่แน่นอนเกิดขึ้น
อีกด้านหนึ่ง ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เพิ่งเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจากรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปี 2562 หลังมีการหยุดความขัดแย้งทางการค้าชั่วคราว (Asian Development Outlook 2018 Supplement: The Outlook Firms as Trade Conflict Pauses) ออกมา โดยระบุว่ามีแนวโน้มที่ทุกประเทศมีการเติบโตลดลง โดยที่ตัวเลขคากการณ์จีดีพีรวมของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ลดจากตัวเลขคาดการณ์รวมปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.2 หากไปดูรายประเทศพบว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย มีตัวเลขจีดีพีลดลงจากร้อยละ 5.3, 4.8 และ 4.3 เป็นร้อยละ 5.2, 4.7 และ 4.1 ตามลำดับ ในขณะที่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามมีตัวเลขการเติบโตเท่าเดิมที่ร้อยละ 6.7, 2.9 และ 6.8 ตามลำดับ
ในรายงานของเอดีบีฉบับนี้ ลงลึกไปเศรษฐกิจของไทยโดยชี้ว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2561 ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยเติบโตที่ร้อยละ 4.3 เป็นผลมาจาก ความแข็งแรงของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยปัจจัยที่รายได้ครัวเรือนจากภาคเกษตรปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างและการซื้อเครื่องมือการผลิตและอุปกรณ์ที่มากขึ้น
ขณะเดียวกันการส่งออกกลับตกลงในไตรมาสที่ 3 หลังจากที่ปริมาณผลผลิตตกลงเนื่องจากฐานสูงและยังโดนผลกระทบจากสงครามการค้า
ดังนั้น จึงปรับคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ลดลงจากร้อยละ 4.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เนื่องจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.3 สำหรับตัวเลขคาดการณ์ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :