ไม่พบผลการค้นหา
‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หรือชื่อเล่นว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรืออาจเรียกโครงการบัตรทอง นำเสนอโดยพรรคไทยรักไทย โดยมีรากความคิดจากการศึกษาของ นพ.สวงน นิตยารัมพงศ์ ที่พยายามผลักดันมายาวนาน

พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งในปี 2544 และเริ่มโครงการ 30 บาทฯ นำร่องทันที จนมีการร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  อย่างชัดเจน ดำเนินการเต็มรูปแบบทั้งประเทศในปี 2545

ก่อนหน้าจะมีโครงการ 30 บาทฯ ประเทศไทยไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลกับประชาชนทั่วไป จะมีก็แต่กับข้าราชการ

ปี 2518 รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มจัดงบประมาณสงเคราะห์ประชาชนรายได้น้อยในเขตเมือง  และนโยบายรัฐบาลต่อๆ มาก็เป็นการ ‘สงเคราะห์’ ผู้มีรายได้น้อยเรื่อยมา ในปี 2543 รัฐบาลชวน หลีกภัย เหมาจ่ายรายหัวให้เฉพาะ “คนยากจน” หัวละ 800 บาท จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่สร้างสวัสดิการรักษาคนทุกคนในปี 2544 โดยเหมาจ่ายรายหัวที่ 1,2002 บาท ครอบคลุมประชากร 45.35 ล้านคน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้ระบบโรงพยาบาลล้มละลายหรือสร้างปัญหากับระบบสาธารณสุข งานวิจัยติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2545-2546 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปรียบเทียบการเหมาจ่ายรายหัว 3 ระบบ

ปี 2545  

  • หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุม 45.35 ล้านคน 1,202 บาท/คน   
  • ประกันสังคม ครอบคลุม 7.02 ล้านคน 1,606 บาท/คน
  • ข้าราชาการ ครอบคลุม 4.05 ล้านคน 5,000 บาท/คน

ปี 2547

  • หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,331 บาท/คน
  • ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 6,000 บาท/คน
  • ประกันสังคม 2,115 บาท/คน  

ผ่านมา 15 ปีโครงการ 30 บาทฯ กลายเป็น ‘ตำนาน’ ของพรรคเพื่อไทยที่ยังคงถูกพูดถึงจนปัจจุบัน แม้มีรัฐประหารสองครั้งในรอบทศวรรษ โครงการนี้ก็ยังคงอยู่ 

ปี 2560 รัฐบาลอนุมันติงบ 169,752 ล้านบาทให้ สปสช. และการเหมาจ่ายรายหัวก็เพิ่มขึ้นเป็น  3,110  บาท ขณะที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้มากกว่าเล็กน้อยที่ 3,400 บาท

แม้การดูแลคนส่วนใหญ่จะเริ่มเพิ่มคุณภาพขึ้นแต่ช่องว่างระหว่างคนทั่วไปกับข้าราชการก็ยังมีอยู่สูง ในปี 2560 เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ รวมแล้ว 73,658 ล้านบาท ครอบคลุมคนประมาณ 6 ล้าน (จำนวนข้าราชการและคนครอบครัวตามการประเมินของเดชรัตน์ สุขกำเนิด) เมื่อหารเฉลี่ยแล้วจะตกอยู่ที่ราวๆ 12,000 บาท

ล่าสุดใน ปีงบประมาณ 2568 แม้ร่างงบประมาณจะยังไม่ผ่าน ครม.และสภา แต่ในเบื้องต้น ครม.ได้อนุมัติวงเงินที่จะจ่ายให้ สปสช.แล้ว เมื่อ 9 เม.ย.2567  จำนวน 235,843 ล้านบาท นั่นจะทำให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวขยับไปอยู่ที่  3,845 บาท 

รายละเอียดของเงิน 235,843 ล้านบาท แบ่งเป็น 

  • ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชาชน 47.15 ล้านคน วงเงิน 181,297,444,400 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 15,000 ล้านบาท)
  • ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 4,209,445,500 บาท
  • ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 13,506,166,200 บาท
  • ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) วงเงิน 1,298,924,300 บาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ รวมวงเงิน 2,180,228,000 บาท ประกอบด้วย  
  • (1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว 236,509,300 บาท
  • (2) บริการที่ร้านยา 249,320,700 บาท
  • (3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล 695,990,900 บาท
  • (4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล 851,210,000 บาท
  • (5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งที่บ้าน 32,945,500 บาท
  • (6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ 40,512,000 บาท
  • (7) ค่าบริการสาธารณสุขหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาล 73,739,600 บาท              
  • ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
  • (1) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,522,207,000 บาท
  • (2) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 2,900,246,000 บาท
  • (3) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัด 530,968,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย 522,923,000 บาท
  • ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  25,383,960,500 บาท           

ปัจจุบันนี้ จาก ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ พัฒนาขึ้นเป็น ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาที่รพ.ไหนก็ได้ เนื่องจากระบบหลังบ้านของรพ.ที่ผูกกับ สปสช.นั้นเชื่อมโยงกันแล้ว อีกทั้งระบบการเบิกจ่ายมีการเปลี่ยนแปลงให้คล่องตัว นอกจากนี้ยังเพิ่มบริการนัดหมอออนไลน์ จ่ายยาออนไลน์ ฯลฯ ทำให้ประหยัดเวลาขึ้นอีกด้วย

เบื้องต้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ก่อนจะขยายเป็น 12 จังหวัด คาดว่าภายในปี 2567 นี้จะสามารถขยายผลเป็นทั่วประเทศได้