ในวันพรุ่งนี้(21 มี.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่ง อดีต กกต.มองว่า หากศาลจะวินิจฉัยให้เลือกตั้งเป็นโมฆะก็ควรหาทางออก กำหนดวันเลือกตั้งมาด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหาตีความข้อกฎหมายภายหลัง ส่วน กกต.และผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การเป็นโมฆะ ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งแพ่งและอาญา
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. สรุปคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามกฎหมายเลือกตั้ง ของกลุ่มผู้ชุมนุม รวม 372 คดี เป็นคดีขัดขวางการเลือกตั้ง ทั่วประเทศ รวม 194 คดี แยกเป็น ในกรุงเทพมหานคร 51 คดี และคดีที่เกิดในต่างจังหวัด 143 คดี โดยศาลออกหมายจับแล้ว รวม 193 คน ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว 152 คน
คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต.จงใจละทิ้ง ไม่จัดการเลือกตั้ง รวม 178 คดี แยกเป็น ในกรุงเทพฯ 66 คดี และคดีที่เกิดในต่างจังหวัด 112 คดี เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้ง ไม่จัดการเลือกตั้ง มีจำนวนมากถึง 1,713 คน ส่วนแกนนำ 58 คน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะนำเอาความผิดฐานร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง มารวมกับความผิดในคดีพิเศษ ฐานร่วมกันเป็นกบฏด้วย เพราะเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกัน
สำหรับคดีความผิดฐานขัดขวางการเลือกตั้งทั้งหมดนี้ เป็นการเอาผิดโดย ศอ.รส. ไม่ใช่การดำเนินการโดย กกต.ที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง และวันนี้ นายชุมสาย ศรียาภัย ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 6 สุราษฎร์ธานี พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นฟ้อง กกต.ทั้ง 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 จงใจไม่ออกประกาศ หรือวางระเบียบที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้ง