การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต วันที่สอง 8 จังหวัดภาคใต้ยังเป็นปัญหา กกต.เขตเลือกตั้งของจังหวัดทยอยยื่นใบลาออก ด้านอดีต กกต.แสดงความเป็นห่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกไม่ได้
การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ของกรุงเทพมหานคร ในวันที่สอง ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้มาสมัครเพิ่มเติม ทั้งหมด 10 ราย ใน 10 เขตเลือกตั้ง ทำให้ขณะนี้มีผู้มาสมัครแล้วทั้งสิ้น 77 ราย จาก 10 พรรคการเมือง
ขณะที่ภาคใต้ ในบางจังหวัดยังคงเปิดรับสมัครส.ส.ไม่ได้ โดยที่จังหวัดสงขลา ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ทั้ง 8 เขตเลือกตั้งของจังหวัดสงขลา ได้ยื่นใบลาออก หลังจากที่เมื่อวานนี้ ผอ.กกต.ทั้ง 8 เขตได้ลาออกไปก่อนแล้ว เช่นเดียวกับจังหวัดตรัง กรรมการเขตและผอ.กกต.เขต ทั้ง 4 เขตได้ลาออกแล้ว ทำให้ต้องยุติการรับสมัครเป็นการชั่วคราวไปก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง ผอ.และกกต.เขต ทั้ง 4 เขตเรียบร้อยเสียก่อน
ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้ง 9 เขต ยังไม่สามารถเปิดรับสมัครได้เป็นวันที่สอง เนื่องจากยังมีการชุมนุมประท้วงหน้าสถานที่รับสมัคร
ทั้งนี้นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.แสดงความเป็นห่วง กรณีที่เขตเลือกตั้งบางเขต โดยเฉพาะในภาคใต้ อาจไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะส่งผลให้จำนวน ส.ส. ไม่ถึงร้อยละ 95 ซึ่งไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ ในอดีตก็เคยเจอปัญหานี้ ขณะนั้น กกต.เตรียมทำเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เสนอเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยโดยเร็วว่ากฎหมายมีปัญหาและชี้แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะ กกต.ไม่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงได้
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 กำหนดให้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ประกอบกับ มาตรา 93 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จึงจะประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้ หากถึงกำหนด 30 วัน ยังมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95 จะทำได้เพียงการเรียกประชุมรัฐสภาเท่านั้น แต่ไม่สามารถประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำหนดวันเริ่มการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ พิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ได้